เมืองปลอดภัย 6 มิติ ที่คนกรุงเทพฯ อยากเห็น

หวัง (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. ผลักดันให้เป็นจริง สู่การเป็น “มหานครปลอดภัย”

การรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เกี่ยวกับเมืองปลอดภัย เกิดขึ้นในงาน Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาภัยพิบัติ อุบัติภัยจากการก่อสร้าง อาหารปลอดภัย และสุขภาพปฐมภูมิของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี

The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note

เมืองปลอดภัย ปลุกกรุงเทพฯ

ปักหมุด จุดเสี่ยง ช่วยแก้ปัญหา และดูแลความปลอดภัยรอบด้าน โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา สะท้อนปัญหาที่เกิดจากอาชญากรรม โดยมีข้อเสนอให้ กทม. ใช้เทคโนโลยีปักหมุดจุดเสี่ยงเกิดเหตุ และใช้พลังของชุมชนเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นปัญหา เรื่อง ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงควรใช้กลไกการทำงานของ กทม. ที่มีให้เกิดประโยชน์ อย่างสำนักพัฒนาสังคมที่กระจายอยู่ทุกเขต และกองทุนพัฒนาสตรี ที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

“กทม. มีชุมชนในการดูแลอยู่แล้ว ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม สิ่งที่ทำได้เลย คือ อาสาสมัครหรือแกนนำในชุมชน นอกจากดูแลทางกายภาพ หากมีความเข้าใจปัญหาเรื่องภัยทางเพศและมีเครื่องมือในการแจ้งเหตุไปสู่เจ้าหน้าที่ได้ พวกเขาจะเป็นหูเป็นตาให้กับคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้”

ขึ้นทะเบียนชุมชน เพื่อสนับสนุนงบประมาณป้องกันอุบัติภัยทุกมิติ

ขณะที่ เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค ร่วมสะท้อนปัญหาภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของ กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนแออัด ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าให้ความช่วยเหลือ และระงับเหตุอย่างทันท่วงที ยกตัวอย่าง กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในชุมชน ที่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้ กทม. ควรสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นเบื้องต้นในทุกชุมชน เรือดับเพลิงกรณีชุมชนอยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง และให้ครอบคลุมชุมชนซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามระเบียบ เพื่อให้ได้รับงบประมาณการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

“ผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องเข้าไปถึงพื้นที่ ไปดูว่าตรงไหน ยังไม่มี แม้กระทั่งทางเท้าที่สะดวก ต้องทำถนนให้เข้าไปได้ อย่างน้อย หากรถเข้าไม่ถึง ก็มีอุปกรณ์ เพื่อเข้าไประงับเพลิงไหม้ ป้องกันภัยพิบัติ…แม้เป็นบุคคลที่อยู่บนพื้นที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรมีการขึ้นทะเบียนชุมชน เพื่อสร้างเมืองปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้จริง”

สิทธิพื้นฐานของทางเท้า ที่ต้อง “เป็นธรรม” และ “เท่าเทียม”

ปัญหาใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ อย่างอุบัติเหตุ ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า กทม. ควรให้ความสำคัญ กับ คนเดินเท้าเป็นอันดับแรก ทั้ง เรื่องของทางเท้า ทางข้ามแยก หรือทางม้าลาย เป็นต้น แม้ปัญหาดังกล่าว อาจมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างที่ทับซ้อน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ ผู้ว่าฯ กทม. ควรทำหน้าที่ประสานงาน และลดข้อจำกัดการเดินทางของคนเดินเท้าให้ได้มากที่สุด

ผศ.ณพงศ์ กล่าวว่า บางเรื่องที่ กทม. มีอำนาจ และสามารถทำได้ทันที ก็ควรทำ อย่างเช่น การนำสิ่งกีดขวางออกจากทางเท้า หรือไม่ก่อสร้างสิ่งใดบนพื้นที่ทางเท้า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และใช้กลไกของชุมชน ในการร่วมชี้จุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อเฝ่าระวังกรณีเกิดเหตุซ้ำ เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังตัวเอง

“ผู้ว่าฯ คนใหม่ สิ่งที่ต้องทำให้กรุงเทพฯ สัญจรสบาย ปลอดภัย ค้าขายสะดวก ต้องมุ่งเป้าทางเท้าเป็นเรื่องหลัก ราคาไม่แพง แต่ถ้าลงทุนเมกะโปรเจกต์แสนล้าน แต่ไม่ทำทางเท้า เราจะเสียเงินเปล่า และไม่ช่วยให้เมืองปลอดภัย”

ดูแลอาคารร้าง ลดพื้นที่เสี่ยงอาชญากรรมและอุบัติเหตุ

ปัญหาความปลอดภัยที่ควบคู่กับอุบัติเหตุ คือ ผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ภายในพื้นที่ กทม. รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. มีโครงการก่อสร้างนับพันโครงการ โดยที่มาตรฐานด้านการก่อสร้าง ของวัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีของไทยไม่ได้เป็นปัญหา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ปัญหาจะอยู่ที่ ‘ระหว่างก่อสร้าง’ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ทั้งเรื่องของ สิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุ กรณีดังกล่าว มีกฎหมาย ระเบียบในการควบคุมตรวจสอบแล้วอย่างชัดเจน แต่การเกิดเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบนั้น เป็นผลมาจากการควบคุม ดูแลที่ไม่เคร่งครัด การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จึงต้องทำหน้าที่กวดขัน และออกแบบแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เมื่อ ผู้ว่าฯ กทม. กระจายอำนาจสู่เขต ต้องกำชับให้ชัดเจน ว่าจะดูแลเรื่องความปลอดภัยจากการก่อสร้างอย่างไร อาคารที่กำลังก่อสร้าง มีมาตรฐานอย่างไร โดยเฉพาะการรื้อถอนที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน…อาคารร้างที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม มีมากกว่า 400 แห่ง ทำอย่างไร จะรื้อถอน สร้างใหม่ ปรับปรุง ต้องเอาให้ชัด”

การสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยของคนกรุง

ส่วนเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือ เรื่องอาหารปลอดภัย ปรกชล อู๋ทรัพย์ จากมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI นำเสนอข้อมูลว่าต้นทางของการประกอบอาหารของคนกรุงเทพฯ ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ล้วนมีสารพิษเจือปนอยู่ไม่น้อย กทม. มีภารกิจที่ต้องส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยเสนอให้มีมาตรการเฝ้าระวังอาหารที่อาจมีสารพิษเจือปน ก่อนมาถึงคนกรุงเทพฯ โดยใช้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. ออกระเบียบ หรือข้อบัญญัติให้เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจัง และสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย เพื่อเป้นทางเลือกสำหรับคนกรุงเทพฯ

“อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ กทม. ว่าอยากให้คนกรุงเทพฯ มีอาหารที่ปลอดภัยกี่เปอร์เซ็น อาจเริ่มที่ตลาดใหญ่ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน เชื่อมโยงพื้นที่อาหารปลอดภัย ซึ่งทางเลือกแบบนี้ต้องอาศัยทั้งนโยบาย กฎหมาย ที่ กทม. มี เพื่อไปจัดการหรือสร้างแรงจูงใจทางการเงินอื่น ๆ … ที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายเชิงเฝ้าระวังหรือป้องกัน“

ใช้เทคโนโลยีเชื่อมฐานข้อมูลสุขภาพของคนเมือง

สอดคล้องกับรอง นพ.วิชช์  เกษมทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มองว่า กทม. ควรนำร่องพื้นที่อาหารปลอดภัย และส่งเสริมสุขภาพระดับปฐมภูมิสำหรับกลุ่มเปราะบาง อย่างเช่น ทางเท้าที่ช่วยให้การเดินของคนกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้มีระบบรองรับผู้ป่วยใกล้บ้าน มีระบบส่งต่อ ให้คนกรุงเทพฯ รู้ว่าเมื่อป่วยแล้วต้องเข้ารับการรักษาที่ไหน เพราะ เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดแล้ว ระบบสุขภาพปฐมภูมิของ กทม. ควรได้รับการปฏิรูป

“รพ. ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ รพ. ที่รองรับคนกรุงเทพฯ แต่เป็นคนทั้งประเทศ…อย่างน้อยต้องสร้างระบบบริการปฐมภูมิ 700 แห่ง ตอนนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่น รวมกัน 200-300 แห่ง ต้องทำโครงข่ายยังไงให้ไปทุกสถานที่ได้ ถ้าป่วยเล็กน้อย ไม่ต้องไป รพ. นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May