เปิดนโยบาย “เมืองทันสมัย” จาก 4 ผู้สมัครและทีมแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.
“Smart City” ถูกรัฐและหลายหน่วยงานให้นิยามว่า คือ “เมืองอัจริยะ” และถูกวางไว้ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ผ่านการพัฒนาเมืองที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้เกิดการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการลงทุนใน 7 ด้านหลัก
คือ 1) ด้านคมนาคมขนส่ง (Mobility) 2) ด้านวิถีชีวิต (Living) 3) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) 4) ด้านประชากร (Citizen) 5) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) 6) ด้านธรรมาภิบาล (Governance) และ 7) ด้านพลังงาน (Energy) โดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ กับ Mobility ในระยะแรก
แต่สิ่งเหล่านี้ เป็นหน้าตาเมืองทันสมัย หรือเมืองที่ฉลาด ตอบโจทย์ผู้คนทุกกลุ่มแล้วหรือไม่?
ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีผู้ท้าชิงหลายคน ชูการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการบริหารเมือง หวังให้กรุงเทพมหานคร เดินหน้าสู่เมืองทันสมัย ขณะที่ตัวแทนผู้สมัครฯ ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนใน “Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “เมืองทันสมัย” มองหน้าตาของ Smart City อย่างไร เพื่อให้เมืองหลวงของไทยเดินไปสู่จุดนั้น
The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 5 เข้าร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายที่ตอบโจทย์เมืองทันสมัย เขามองว่า เมืองจะ Smart ได้ คนในเมืองต้อง Smart ด้วย เริ่มจากการรู้จักช่องทางค้นหาความรู้ที่รวดเร็ว เรียนรู้ความสำเร็จ หรือ Best Practice จากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยหากตนได้มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผ่านการ Live พูดคุยกับประชาชนเป็นประจำทุกเดือน
“ถ้าเสิร์จ Google จะเห็นว่า นโยบายผมลอกมาจากต่างประเทศทั้งหมด ไม่ได้คิดเอง ถ้าทุกคนเป็น Smart people Smart City จะเกิด เมื่อเรามีปัญหา ต้องใช้โมเดลของที่อื่น มาปรับใช้กับเรา จึงจะเรียกว่าวิธีการที่ชาญฉลาด”
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ
ขณะที่ทีมนโยบายของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 6 อย่าง ‘จิรวัฒน์ จังหวัด’ จากทีมคนลุยเมือง บอกว่าพวกเขาตั้งใจผลักดัน ‘สภาประชาชนออนไลน์’ เพื่อสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน สะท้อนปัญหา และความต้องการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ในด้านของเทคโนโลยีนั้นจะให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลมาใช้แก้ปัญหา ควบคู่กับมาตรฐานความปลอดภัย ปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อย่างห้องสมุดประชาชนที่ต้องสามารถยืมหนังสือบนโลกออนไลน์ได้ รวมถึงการปรับพื้นที่ Co–Working Space เชื่อมโยงประชาชนเข้าด้วยกัน ตามวิถีชีวิตคนเมือง
“สิ่งที่เราต้องการทำ คือ Open Data บางส่วนที่ทำได้ และไม่กระทบกับความเป็นส่วนตัว ต้องบาลานซ์กัน เราไม่สามารถเปิดทุกอย่างให้ Smart ได้ เป็นข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายด้วย”
จิรวัฒน์ จังหวัด
ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 25 ร่วมสะท้อนแนวคิดเมืองทันสมัย โดยมองว่าเมืองจะทันสมัยได้ ต้องเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยตั้งใจเปิดเวที เพื่อการแสดงศักยภาพของประชาชน และผลักดันให้นำเสนอได้บนเวทีโลก เป็นมหานครแห่งโอกาส 9 ด้าน เพื่อพัฒนาสู่ Mega City ในอนาคต
“กรุงเทพฯ เราพัฒนามาตลอด แต่ยิ่งพัฒนา ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ ความทันสมัยไปอยู่กับคนข้างบน นอกจากทันสมัย เป็นมหานครแห่งโอกาสด้วย ผมมีนโยบายทำให้กรุงเทพฯ เป็นมากกว่าเมืองหลวง มีเวทีได้ปล่อยของ และต้องพัฒนาให้หาเงินได้ด้วย”
ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ
เช่นเดียวกัน ‘นิธิกร บุญยกุลเจริญ‘ ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางบอน พรรคก้าวไกล ที่ร่วมเป็นตัวแทนของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 มองว่าเทคโนโลยีและความทันสมัย ควรใช้เพื่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส โดยเริ่มต้นจากการใช้งบประมาณโดยประชาชน ทำฐานข้อมูลเมืองแบบออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบาย และประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าควรใช้ไปในทิศทางใด โดยพรรคก้าวไกลนั้นจะใช้เทคโนโลยีในทุกมิติของนโยบาย
“เทคโนโลยี เราจะอยู่ในทุกมิติของนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เขต ชุมชน ต้องมาร่วมจัดงบประมาณตามที่ต้องการ เริ่มต้นจากการทำฐานข้อมูลเมือง แล้วมาจับคู่กับงบประมาณ จึงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด”
นิธิกร บุญยกุลเจริญ