อะไรต้อง “Smart” กับ 6 นวัตกรสังคม
“เมืองทันสมัย หรือ Smart City คืออะไร?” เป็นคำถามแรก ในการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากกลุ่มคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเมืองทันสมัย ทั้ง เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ และตัวแทนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
ตัวแทนเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ มองความทันสมัยของเมืองหลายมิติ เช่น เป็นเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนพิการ กลุ่มเปราะบางที่ต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่มในสังคม, การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม่ในการตัดสินใจ หรือแม้แต่การมีนโยบายที่สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
ชวนฟังเสียงกรุงเทพฯ จากผู้คนที่ร่วมสะท้อนในเวที “Bangkok Active: ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “เมืองทันสมัย” ว่าพวกเขามีคำถามและข้อเสนอเพื่อออกแบบเชิงนโยบายให้ถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างไร
The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note
อาทิตย์ โกวิทวรางกูร ผู้ร่วมก่อตั้งสเปซย่านสี่พระยา มองว่า ก่อนจะแก้ปัญหาเมือง ต้องรู้จักและเข้าใจโครงสร้างปัญหา และเงื่อนไขการจัดการเมืองก่อน จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าทั่วโลก ที่มีบริบทใกล้เคียงไทยมีแนวทางแก้ปัญหาเมืองอย่างไร โดยต้องเริ่มจากการเข้าใจเมืองและคนก่อน จึงค่อย ๆ เปิดรับไอเดียต่าง ๆ เข้ามา
อาทิตย์ ยกตัวอย่างการก่อตั้งพื้นที่ย่านสี่พระยา โดยการนำพื้นที่เกือบ 30 ตารางเมตรมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ เพราะมองเห็นปัญหาว่า ที่ผ่านมา เมืองไม่มีพื้นที่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น สวนสาธารณะที่มีเวลาเปิดปิด พื้นที่ที่ต้องใช้เงินซื้อ
ปัญหา คือ กทม. มีที่ดินที่ถูกแปลงเป็นพาณิชย์ทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าไปกับอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ถึงที่สุดแล้ว กลุ่มทุน หรือ กลุ่มอำนาจมองในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตของคนเมือง จึงตั้งใจนำร่องพื้นที่สี่พระยา จับมือกับเจ้าของที่ดินให้ราคาที่เป็นธรรมกับผู้เช่า และเริ่มมองหาการสร้างโปรแกรม เครื่องมือให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม อาทิตย์ มองว่าปัจจุบันมีเครื่องมือภาคประชาชนมากมาย แต่ส่วนที่ยังขาด คือ พื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ Community Center หรือ Civic Center
ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up / WeVis ในฐานะภาคีที่ทำงานกับข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อประชาชน (Civic Tech) มองว่า การดูแลทุกคนในสังคมได้ดี ต้องเริ่มจากการเปิดข้อมูล ให้ประชาชนมีข้อมูลการตัดสินใจ ที่ผ่านมา ก็ยังคงพยายามทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ นำข้อมูลมาจาก Empower ผู้คนแทนการรับฟังการอภิปรายจากนักการเมืองในสภาฯ เพียงอย่างเดียว โดยก่อนที่เราจะไปเข้าใจ การแก้ปัญหา ต้องเข้าใจปัญหาที่มีอยู่จริงก่อน
ด้าน ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้ง บุญมีแล็บ แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้ “ศูนย์ข้อมูลในเกาหลีใต้” (Seoul Data Center) ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี โดยการนำข้อมูลจากฝ่ายของเมือง เช่น กล้อง CCTV, พื้นที่สีเขียว ฯลฯ จับมือกับภาคเอกชน เก็บข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่จำเป็นมาทำงานร่วมกัน โดยเปิดใช้บริการทางเว็บไซต์ ข้อมูลบางชุดอาจจะมีความละเอียดอ่อน โดยประชาชนสามารถแสดงตัวตน และใช้ข้อมูลเปิดภายในศูนย์ได้ โดยนายกเทศมนตรี มีการขับเคลื่อนประเด็นนี้ผ่านการประกวด หาไอเดียแก้ปัญหากรุงโซล ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยย้ำว่าการเปิดข้อมูลจะทำให้นักพัฒนา และหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทันทีผ่านชุดข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
ขวัญข้าว คงเดชา เครือข่าย Hack Nakhon มองว่าเมืองที่ดีควรมีโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว การที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ต้องมั่นใจว่า ประชาชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม ติดตามและตรวจสอบได้
เวทีครั้งนี้ ขวัญข้าวได้นำแพลตฟอร์ม Hack Nakhon มาแบ่งปันการใช้งานบนเวทีสนทนา แอปพลิเคชันไลน์ เห็นปัญหา ก็เพียงถ่ายภาพและแจ้งข้อมูลเข้าไป ในการแก้ปัญหา ต้องการสร้างสังคมที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และสามารถเก็บคะแนนแข่งขันกับเพื่อนได้ จึงมีความฝันอยากจะเห็นการนำแพลตฟอร์มนี้ไปต่อยอดในอนาคต
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เครือข่าย Accessibility Is Freedom ในฐานะที่เรียกร้องประเด็นปัญหาเพื่อคนพิการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี มองว่า เมืองทันสมัยคือเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ กลุ่มคนเปราะบาง
มานิตย์ บอกอีกว่า ข้อเรียกร้องที่ไม่เคยถูกแก้ไขให้เท่าเทียมมาอย่างยาวนาน จุดสำคัญคือ แนวคิด หรือวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มองคนเท่ากัน เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาไปสู่การเป็น เมืองทันสมัย พร้อมแนะนำเว็บไซต์ Accessibility Is Freedom ที่รวบรวมฐานข้อมูลของความเป็นเมืองเท่าเทียมเอาไว้ให้ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. และประชาชนทั่วไปได้เข้าไปดูข้อมูลเพื่อต่อยอดแนวคิดการแก้ปัญหาร่วมกันได้
ยศพล บุญสม จากโครงการ we!park มองว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เมืองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คือ การบริหารจัดการแบบ Top down โดยไม่ได้สร้างอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชน ดังนั้น แม้จะมีสมาร์ตแพลตฟอร์มก็ไม่เกิดประโยชน์ หากยังมีแนวทางการบริหารแบบเดิม ความไม่โปร่งใสเหมือนเดิม
เขาย้ำว่า ประชาชนจะต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ และคืนอำนาจให้ประชาชน โดยห่วงว่า หาก กทม. ยังไม่เปลี่ยนแปลง อีกไม่นานความสำคัญของ กทม. ก็จะหมดไป พร้อมยกตัวอย่างการปักหมุดพื้นที่รกร้าง ที่ภาคประชาชน พยายามทำร่วมกับเอกชน แต่ยังไม่มีรัฐในสมการดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า จะทำอย่างไรให้เมืองที่มีพลังของประชาชน เป็นเมืองที่มี Digitalization หรือเมืองที่มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น