“โควิด-19” ความกลัว VS ความจริง

ระงับระบบเทสต์แอนด์โก (Test and Go) หรืองดจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลปีใหม่ นี่อาจสะท้อนถึงขั้นตอนการรับมือเชื้อกลายพันธุ์ แต่อีกมุมก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสัญญาณเตรียมล็อกดาวน์หรือไม่?

ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เราต้องฝ่าความกลัว ด้วยความรู้ความเข้าใจ จากบทเรียนการระบาดเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19

การแพร่กระจายของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนที่รวดเร็วและมากขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่าไทยเองคงเลี่ยงการระบาดไม่ได้ โดยเฉพาะหลังเทศกาลปีใหม่นี้

กราฟประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ (ที่มา: กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค)

การประเมินฉากทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุข หลังวันหยุดยาว เริ่มตั้งแต่ 3 มกราคม 2565 เส้นสีเขียว หากเราเร่งฉีดวัคซีน พร้อมเข้มงวดมาตรการส่วนบุคคลสูงสุด โอกาสการติดเชื้อ จะค่อย ๆ สูงขึ้น และอาจไต่ไปถึงหลักหมื่นคนต่อวัน แต่ไม่เกิน 15,000 คน สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และอัตราการเสียชีวิตวันละไม่เกิน 60 คน

แต่ถ้าฉีดวัคซีนด้วยอัตราปกติ คุมเข้มมาตรการส่วนบุคคลสูงสุด จะเป็นเส้นสีเหลือง สิ้นเดือนกุมภาพันธุ์ ตัวเลขติดเชื้อสูงสุดอาจจะมากกว่า 15,000 คน แต่ไม่เกิน 20,000 คน เสียชีวิตอาจสูงถึง 100 คนต่อวัน

แต่ถ้าเราฉีดวัคซีนด้วยอัตราปกติ ไม่คุมเข้มมาตรการส่วนบุคคล สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ติดเชื้ออาจพุ่งไปถึงวันละ 30,000 คน เสียชีวิตอาจสูงถึง 150 คนต่อวัน

แม้จะประเมินกันว่า เชื้อโอมิครอนไม่ก่อโรครุนแรง แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูง นั่นย่อมหมายถึงอาการที่อาจรุนแรงและกระทบต่อระบบสาธารณสุข

หลายคนอาจกลัวว่า จะต้องกลับไปล็อกดาวน์กันอีกหรือไม่ ถ้าย้อนกลับไปช่วงเดือน กรกฎาคม – กันยายนที่ผ่านมา เราก็เคยเจอกับผู้ติดเชื้อพุ่งแตะหลักหมื่นนานนับเดือนจากสายพันธุเดลตามาแล้ว เวลานั้น หลายชุมชนพยายามเรียนรู้เพื่อฝ่าความกลัว หลายพื้นที่เป็นตัวอย่างของการจัดการโรค ตัดวงจรการระบาดด้วยความเข้าใจ

ความกลัว กับ ความจริง เกี่ยวกับ “โควิด-19”

ถ้าเราก้าวข้ามความกลัว แต่เรียนรู้และเข้าใจโรค นี่คือสิ่งที่หลายฝ่ายตกผลึกร่วมกันจาก เวทีสาธารณะ Fact and Fear Covid-19 รู้เข้าใจ ออกไป ใช้ชีวิต ที่ The Active ไทยพีบีเอส และเครือข่ายรวมกันจัดขึ้น เราเรียนรู้อะไรบ้าง

เชื้อโควิด-19 “โอมิครอน” ติดง่าย

ความจริง

  • สวมหน้ากากอนามัยป้องทางเข้าออกเชื้อ ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง หากต้องไปในที่แออัด หรือพื้นที่ปิด สวมหน้ากากอนามัยให้มิดชิด ลดการพูดคุย ช่วยป้องกันโควิด-19  ทุกสายพันธุ์ ร่วมกับการฉีดวัคซีน
  • ผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมกับครอบครัวได้ ป้องกันโดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 2 เมตรเมื่อถอดหน้ากาก เปิดห้องเปิดประตูให้อากาศถ่ายเทสะดวก

โอมิครอน อาการหนัก?

ความจริง

  • โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อรักษาหายได้ 
  • 70-80% ของคนที่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง หรือมีอาการอ่อน ๆ และสามารถหายได้เอง
  • คนที่มักมีอาการรุนแรงได้แก่ ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำ
  • การฉีดวัคซีนช่วยลดอาการหนัก เข้าถึงยารักษาเร็ว หายเร็ว
  • จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน โอมิครอนมีแนวโน้มอาการไม่รุนแรง และลงปอดได้ช้ากว่า เดลตา

การระบุสถานที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยงหรืออาชีพ เช่น ร้านอาหาร ชุมชนแออัด พื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน

ความจริง

  • สถานที่ไม่ใช่ความเสี่ยง แต่เป็นพฤติกรรมของคนทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น การไม่ใส่หน้ากากอนามัย การอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อแบบใกล้โดยไม่ป้องกัน เสี่ยงติดเชื้อมากกว่า 
  • การระบุสถานที่เสี่ยง ระบุอาชีพผู้ติดเชื้อทำให้เกิดการตีตรา สร้างผลกระทบเชิงลบกับคนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่และอาชีพนั้น 
  • ไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่เสี่ยง เพียงแต่ย้ำเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องปรับพฤติกรรมเสี่ยงการระบุกลุ่มเสี่ยงและอาชีพทำให้เกิดการตีตรา สร้างผลกระทบเชิงลบ สังคมระแวงจนกระทั่งป้องกันกับคนกลุ่มเสี่ยงเกินไปจนเกิดการเลือกปฏิบัติ จนละเลยป้องกันคนใกล้ชิด

รักษาตัว 10 วัน ไม่ต้องกักตัวหลังรักษา 

ความจริง

  • แนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ผู้ติดเชื้อจะหายจากการติดเชื้อ ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ หลัง 10  วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ 
  • ส่วนคนที่ไม่มีอาการนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อเป็นวันแรก ถึงแม้ว่าการตรวจ ATK หรือ RT PCR ในบางคนยังมีผลเป็นบวกอยู่นานถึง 3 – 6 เดือน เนื่องจากยังคงมีซากเชื้อโควิด-19 ที่ตายแล้ว  
  • ซากเชื้อที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ คนติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และอยู่ระหว่างการแยกตัว ก็สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ โดยเน้นการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ รักษาครบ 10 วันสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้

คนฉีดวัคซีนและคนหายป่วยติดเชื้อซ้ำได้

ความจริง

  • คนที่ฉีดวัคซีน หรือคนเคยติดเชื้อแล้ว อาจติดเชื้อซ้ำได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เพราะมีภูมิคุ้นกันอยู่แล้วทำให้สามารถจัดการเชื้อในร่างกายได้เร็ว  
  • แต่การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างยังคงมีความจำเป็น เพราะถ้าเราติดเชื้อเราก็สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ปิดทางไม่ให้เชื้อเข้าเสมอ เมื่ออยู่ในสถานที่มีโอกาสรับเชื้อ และปิดทางไม่ให้เชื้ออกเสมอ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

ติดเชื้อโควิด-19 แยกตัวเองอยู่บ้านได้

ความจริง

  • หลังจากมีการยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แพทย์ประเมินอาการไม่มีอาการ หรืออาการไม่หนัก ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลขึ้นทะเบียนรักษาที่บ้านกับ สปสช. ได้ ที่สายด่วน 1330
  • เตียงโรงพยาบาลมีไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก
  • หน้าที่ป้องกันการติดเชื้อและแพร่โรคเป็นของทุกคน อย่าผลักภาระการป้องกันให้ผู้ติดเชื้อฝ่ายเดียว
  • สามารถจัดพื้นที่ในบ้าน และชุมชนให้ผู้ติดเชื้อแยกกันตัวเอง โดยไม่ขับไล่หรือผลักไสใครออกไปจากที่พักอาศัย

“ความกลัว” จะแก้ได้ต้องใช้ ความเข้าใจ จากข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ผ่านมา “อารี คุ้มพิทักษ์” เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย ได้เข้าไปอบรมชาวบ้านหลายชุมชน ชี้ให้เห็นว่าโควิด-19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีทางเข้าออกของเชื้ออยู่ที่จมูก หากใส่หน้ากากปิด จมูกก็เหมือนปิดทางเข้าออกของเชื้อ ตัวเองก็ปฏิบัติให้เห็นว่าวิธีนี้ป้องกันติดโรคได้ เพราะตนเป็นหนึ่งในทีมที่ต้องเข้าไปให้บริการผู้ป่วย 

“เราอยู่มาแล้ว 2 ปี” ในช่วงเริ่มแรกเรายังไม่มีความรู้ จึงความกลัวทำให้ป้องกันเกินจำเป็น กระทบการใช้ชีวิต “พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี IHRI  กล่าวว่าที่ผ่านมา เป็นการบังคับสั่งให้ผู้คนทำอย่างนี้อย่างนั้น เพราะไม่คุ้นชินกับการใช้ความรู้บอกให้คนเข้าใจว่า “ให้เลือกเอาว่า รู้อย่างนี้แล้ว ควรทำอย่างไร” 

หากมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “นพพรรณ พรหมศรี” เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็เชื่อว่าชุมชนจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการลดการแพร่กระจายเชื้อ แล้วจะสามารถรับมือได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และการมีระบบรองรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก สปสช. ที่สนับสนุนหน่วยบริการจับคู่ชุมชนในการทำ community isolation 

“ขอย้ำกับรัฐบาลว่า หากระบาดอีกไม่ควรล็อกดาวน์แล้ว เพราะทำลายวิถีชีวิตเศรษฐกิจ เชื่อมโยงไปถึงปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมทาง ที่ถูกต้องคือรณรงค์ให้ความรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องไม่กลัวจนเกินไป” 

สิ่งที่เครือข่ายทำงานเรื่องนี้เน้นย้ำ คือ ระบบรองรับ โดยเฉพาะการใช้ HI และ CI ดูแลผู้ติดเชื้อ 80% ที่ไม่มีอาการ หากได้รับการสนับสนุนเดินหน้าระบบนี้จาก สปสช. จะเป็นทางออกที่สมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตและปากท้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์