นับถอยหลังวัคซีนเข็มแรกของประเทศไทย สำหรับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก จำนวน 200,000 โดสจากประเทศจีน ก่อนทยอยส่งมอบ จนครบ 2 ล้านโดส เมษายน นี้
คนแรกที่ออกปากอาสาขอรับวัคซีนเข็มแรกจาก ซิโนแวค คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเป้าหมายแรก ที่จะได้รับการฉีด คือ บุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้า ขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ก่อนจะเข้าสู่แผนกระจายวัคซีนระยะที่ 2 ช่วงเดือนมิถุนายน ไปจนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ด้วยวัคซีนของ แอสตราเซเนกา
ต่อไปนี้ คือ 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีน “ซิโนแวค” ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจจองซื้อในแผนกระจายวัคซีนระยะที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2564
วัคซีนสัญชาติจีน
จีนเป็นประเทศที่มีการตรวจพบโควิด-19 เป็นแห่งแรก และได้มีการพัฒนาวัคซีนหลายตัว แต่มี 2 ตัวที่โดดเด่น คือ ของบริษัทซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ประเทศไทยเลือกจองซื้อวัคซีนของ “ซิโนแวค” แม้ อย. ของประเทศจีน จะขึ้นทะเบียนรองรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้หลังวัคซีนซิโนฟาร์มไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะว่าก่อนหน้านั้นพยายามจองซื้อวัคซีนกับบริษัทซิโนฟาร์มแล้ว แต่ไม่สามารถรับออเดอร์และส่งมอบวัคซีนได้ทันภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งไทยอยู่ระหว่างรอการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตราเซเนกา มายังโรงงานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
วัคซีนซิโนแวค จึงกลายเป็นวัคซีนล็อตแรกของไทยที่มาถึงเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย
การเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลายบริษัทเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับวัคซีน “ซิโนแวค” ใช้วิธีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม คือ การผลิตวัคซีนแบบเชื้อตาย ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และไวรัสตับอักเสบเอ โดยไวรัสจะถูกทำให้ตายและฉีดเข้าไปในในมนุษย์ เพราะว่าไวรัสตายแล้วจึงไม่ทำให้ติดโรคโควิด-19 เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะตอบสนองและผลิตสารแอนติบอดีขึ้นมา เพื่อพร้อมต่อสู้กับการติดเชื้อโควิด-19
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า สำหรับคนที่กลัวอาการข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวค ที่กำลังจะเข้ามาฉีดในประเทศไทย ขอให้สบายใจได้ ขอให้ทุกภาคส่วนพยายามนำเข้าวัคซีนมาให้มากและเร็วที่สุด เพื่อให้ภาวะต่าง ๆ กลับคืนมาให้ได้โดยเร็ว โดยจะต้องมีการฉีด 2 โดส เช่นเดียวกับวัคซีนของ แอสตราเซเนกา
เก็บอุณหภูมิตู้เย็นปกติ
วัคซีน “ซิโนแวค” ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในที่ที่มีอุณหภูมิเย็นจัด เพราะสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิของตู้เย็นปกติ ราว 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ ทั้งในด้านการเก็บรักษา และการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส
ประสิทธิภาพไม่คงที่
การทดสอบวัคซีน “ซิโนแวค” เฟส 3 ช่วงแรก ระบุได้ผล 91% แต่ในการทดลองขั้นต่อไป ที่ประเทศบราซิล ลดลงเหลือเพียง 50.4% ซึ่งสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้เพียงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังพอสร้างภูมิคุ้มกันให้หลังติดเชื้อจะมีอาการป่วยไม่รุนแรง และไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
“ซีพี” ถือหุ้น
กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ซื้อหุ้น 15.03% บริษัทซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ (Sinovac Life Sciences) ผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวคป้องกันโควิด-19 รายแรกของจีน มูลค่า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 15,450 ล้านบาท