“ผู้ใช้แรงงานต้องตกงานจํานวนมากและใช้ชีวิตตามยถากรรม นักศึกษาจบใหม่ก็ไม่มีงานทํา ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภาคการผลิตได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างรุนแรง” คือหนึ่งในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการบริหารงานของรัฐมนตรีฯ ในช่วงของการระบาดโควิด-19 ที่พรรคฝ่ายค้านหยิบยกมาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี
The Active ชวนดูภาวะการจ้างงานและแนวโน้มการก่อหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น สะท้อนปัญหาปากท้อง ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาหลังโควิด-19
โควิด-19 ระบาดระลอกแรกในประเทศไทย ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2563 นำมาสู่การล็อกดาวน์ครั้งแรกช่วงเดือนเมษายน ไตรมาส 2 ของปีที่แล้วจึงปรากฏตัวเลขผู้ว่างงาน 745,000 คน
ต่อมาเกิด การระบาดระลอก 2 ช่วงปลายปี 2563 ทำให้ไตรมาสแรกของปี 2564 มีผู้ว่างงานถึง 758,000 คน โดยไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แม้ผู้ว่างงานจะลดลงจากไตรมาสแรกอยู่ 732,000 คน แต่ก็ยังสูงมากกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด มีผู้ว่างงานมีจำนวน 377,000 คน
การระบาดระลอก 3 เมื่อเมษายน 2564 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมโรคอีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 นี่ยังไม่นับรวมการระบาดระลอก 4 ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อมากกว่าทุกระลอกผู้ติดเชื้อล้นระบบสาธารณสุข และนำมาสู่การล็อกดาวน์กินเวลายาวนานมากกว่า 1 เดือน ส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน การมีงานทำ และรายได้
โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีเพียง 5.5% หรือมีจำนวน 560,000 แสนคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น จึงมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสาเหตุที่ออกจากงานพบว่า 32.8% นายจ้างเลิกกิจการ รองลงมาคือหมดสัญญาจ้างแรงงาน 27.1% ถูกให้ออกไล่ออกและปลดออก 11.40% ตามลำดับ
สัดส่วนของการเลิก-หยุดปิดกิจการ เลิกจ้าง ที่สูง สะท้อนว่ามาตรการควบคุมโรคส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แม้จะมีการเยียวยา แต่ปัญหาปากท้องก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัด
แรงงานที่ได้รับผลกระทบบางส่วนทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งปี 2563 ปรับตัวด้วยการกลับสู่ภูมิลำเนา ขณะเดียวกันพบว่าผู้ที่ว่างงานหางานลดลง และมีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นฟรีแลนซ์ เพิ่มขึ้น
เมื่อจำนวนคนตกงานมีสัดส่วนที่เพิ่มมากจากการระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผล ต่อมูลค่าหนี้สินครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นตามการระบาดระลอกแรก ไตรมาส 2 ของปี 2563 และมีการล็อกดาวน์ ทำให้มีมูลค่าหนี้สินถึง 13.59 ล้านล้านบาท และเกิดเป็นหนี้สูญถึง 15,250 ล้านบาท จากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2564 ซึ่งเข้าสู่การระบาดระลอก 2 ต่อเนื่องไปการระบาดระลอก 3 มูลค่าหนี้สินครัวเรือนพุ่งสูงสุดถึง 14.13 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้สูญอยู่ที่ 14,870 บาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 หนี้สูญอยู่ที่ 12,740 บาทซึ่งน้อยกว่ากันประมาณ 2,000 ล้านบาท
การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานย่อมส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เสนอว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เข้มข้นกว่าการช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา เช่น การช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็น ต้องกักตัว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่ม
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วนหนี้สูญของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคอยู่ 2.92% เพิ่มขึ้นจาก 2.84% ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินที่ยากลำบากมากขึ้น