แม้ประเทศไทยยังอยู่ในบรรยากาศของการเปิดประเทศ แต่หลังจากที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” หรือไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ B.1.1.529 ในหลายประเทศ ก็ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศห้าม 8 ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
ขณะที่แพทย์เสนอว่าควรจะห้ามประเทศที่พบการแพร่ระบาดเดินทางเข้าประเทศไทยด้วย พร้อมงัดมาตรการ Quarantine หรือกักตัว 14 วันกลับมาอีกครั้ง เพราะไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ดื้อต่อวัคซีน หากหลุดรอดเข้ามา จะทำให้การฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าไปเกือบ 70% ของทั้งประเทศนั้นสูญเปล่า
สำหรับประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย คือ
- สาธารณรัฐบอตสวานา
- ราชอาณาจักรเอสวาตินี
- ราชอาณาจักรเลโซโท
- สาธารณรัฐมาลาวี
- สาธารณรัฐโมซัมบิก
- สาธารณรัฐนามิเบีย
- สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
- สาธารณรัฐซิมบับเว
ขณะที่ล่าสุด สายพันธุ์โอมิครอน พบแล้วหลายประเทศจากผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกา คือ
- ฮ่องกง พบ 2 คน
- อังกฤษ พบ 2 คน
- เยอรมนี พบ 2 คน
- อิตาลี พบ 1 คน
- สาธารณรัฐเช็ก กำลังตรวจสอบผู้ต้องสงสัยอีก 1 คน
- เนเธอร์แลนด์ ผู้โดยสาร 61 คน ใน 2 เที่ยวบินจากแอฟริกาตรวจพบโควิด กำลังตรวจสอบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่
- อิสราเอล พบ 1 คน ต้องสงสัยอีก 7 คน
- เบลเยี่ยม พบ 1 คน
- ออสเตรเลีย พบ 2 คน
- แคนาดา พบ 2 คน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องรีบทบทวนการเดินทางระหว่างประเทศ ไม่เพียงเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกาเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนด้วย
โดยโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ มีการเปลี่ยนแปลง กว่า 50 ตำแหน่ง เฉพาะส่วนหนามหรือสไปค์โปรตีน ก็เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 30 ตำแหน่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ต้องเรียนรู้ใหม่ ดังนั้น สิ่งที่โลกได้ทำไปคือการฉีดวัคซีนคนเป็นพันล้านคนก็อาจจะมีปัญหา
อย่างน้อยตอนนี้ มีข่าวว่าคนที่ติดเชื้อโอมิครอน ที่ฮ่องกง 2 คน ทั้งคู่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และคนที่ติดเชื้อในแอฟริกาใต้บางคนก็มีการฉีดวัคซีนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา หรือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่าวัคซีนเชื้อตาย จะสร้างภูมิต้านทานได้หรือไม่
คำถามต่อมา ถ้าเราฉีดวัคซีน แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อ แล้วจะป้องกันการเจ็บ การตายหรือไม่ เรื่องนี้ คงต้องดูข้อมูลจากการระบาดในแอฟริกาในไม่ช้า
ส่วนโอมิครอน จะแพร่เร็วมากน้อยแค่ไหน หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจน คือ กราฟการระบาดของโควิด 19 ในแอฟริกาใต้ ในช่วงการระบาด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ว่าช่วง 10 วัน จำนวนเคสเพิ่มขึ้นจากวันละ 300 คนกระโดดไปเกือบ 10 เท่าเป็น 3,000 คน
“ที่เพิ่มวันละพันคนเป็นโอมิครอนหรือเปล่า ไปดูข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าการระบาดที่เพิ่มขึ้น 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา 80% เกิดในจังหวัดหนึ่งของแอฟริกาใต้ การระบาดส่วนใหญ่เริ่มต้นจากนักศึกษามหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าไปอยู่ในชุมชน จากการตรวจเชื้อกลุ่มตัวอย่าง นักศึกษา 77 คน ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน”
เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลาการระบาด พบว่าสายพันธุ์โอมิครอน ระบาดได้เร็วกว่าเดลตา สูงเกือบ 2 เท่า หรือประมาณ 50% โดยใช้เวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ ก็จะกลายเป็น 90% ของเชื้อทั้งหมด
ต้องยอมรับว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่ มีความน่ากังวลหลายด้าน อีกด้านหนึ่งก็คือไม่สามารถที่จะตรวจหาเชื้อเจอได้ด้วยชุดตรวจบางชนิด เรื่องนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุถึงการหาตรวจหาเชื้อด้วย Polymerase chain reaction (PCR) ที่ใช้ตรวจโควิด 19 ยังไม่สามารถตรวจจับสายพันธุ์โอมิครอนได้
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรม มาทดสอบด้วยวิธีชีวสารสนเทศ ปรากฏว่าจากการวิเคราะห์ผลคอมพิวเตอร์ทั้ง 115 ตัวอย่าง มีแนวโน้มว่าอาจเกิดปัญหาไม่น้อย กับชุดตรวจ PCR บางยี่ห้อที่จะให้ผลบวกอ่อนลงหรืออาจเกิดผลลบปลอม ดังนั้นศูนย์ตรวจรับโควิด 19 ด้วยวิธี PCR อาจต้องระมัดระวังเลือกใช้ชุดตรวจ ที่ไม่มีปัญหาในการตรวจจับสายพันธุ์โอมิครอน
แต่ด้าน อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า หาก ATK ที่ใช้ตรวจสายพันธุ์อัลฟาได้ ก็ไม่น่ามีประเด็นในการตรวจโอมิครอน โดยได้หยิบยกประเด็นนี้จากทวิตเตอร์ของนักวิจัยชาวเยอรมันที่นำ ATK อย่างน้อย 3 ยี่ห้อ ไปตรวจเคสโอมิครอนที่เพิ่งตรวจพบในเยอรมนี และโพสต์บอกเป็นภาษาเยอรมันว่า ATK ทั้ง 3 ยี่ห้อสามารถตรวจโอมิครอนได้