แม้โควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสที่ไม่หยุดนิ่งยังคงได้เห็นการระบาดอีกละลอกในเวลานี้สายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดคือโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5
The Active จะพาไปรู้จักเชื้อสายพันธุ์ย่อยแต่ละตัว ว่าติดเชื้อยากง่าย อาการแตกต่างกันอย่างไร และดื้อกับวัคซีนอย่างไร
โควิด-19 สายพันธุ์โอมิคอน หรือ BA.1 เริ่มระบาดครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2564 ส่วนในไทยเริ่มพบเคสผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 กระทั่งเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ภายใต้การนำของสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา การระบาดรอบนี้นับว่ามีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ และยังคงระบาดต่อมาเรื่อย ๆ ไปพร้อม ๆ กับการกลายพันธุ์ของไวรัส
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เริ่มพบครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 ซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับ BA.1 ที่เป็นตัวหลัก คือมีไข้ ไอ น้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และบางรายมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
แต่การกลายพันธุ์รอบนี้ไวรัสพัฒนาความเร็วในการแพร่ระบาดจาก BA.1 ที่แพร่ได้ 9.5 คน BA.2 แพร่ได้กว้างกว่าเป็น 13.3 คน โดยทั้งโลกเริ่มกังวลถึงประสิทธิวัคซีนที่ลดลงจากสายพันธุ์เดลต้า เพราะทั้ง BA.1 และ BA.2 มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน และทำให้ประสิทธิภาพวัคซีน 3 เข็มลดลงเหลือ 50 – 70% โดยประมาณ จนในที่สุด BA.2 ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2565
การกลายพันธุ์ที่แตกแยกย่อยไปเป็น BA.4 และ BA.5 ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย มีอาการอ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มีไข้ น้ำมูกไหล ปวดหัว และบางรายท้องเสีย แน่นอนว่าการกลายพันธุ์ครั้งนี้ตัวไวรัสพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแพร่ระบาดจากครั้งก่อน 13.3 คนเป็น 18.6 คน และหลบภูมิทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลด 3 เข็มลดลงเหลือ 45 – 56% โดยประมาณ กระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยครองสัดส่วนเกินครึ่ง 51% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นแพร่ระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ
1.ความแข็งแรงของไวรัส (Viral fitness) ที่มากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน โดยมีสมรรถนะการขยายวงการระบาดเร็วขึ้น (growth advantage) และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น (immune evasion) ในขณะที่ความรุนแรงของโรค (severity) นั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะฟันธง แต่หลายประเทศที่โดน BA.5 ระบาดมากนั้นก็พบว่าทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างชัดเจน
แม้ว่าทั่วโลกจะได้มีการฉีดวัคซีนไปมากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ด้วยความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีด และภูมิจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน ทำให้พบการติดเชื้อมากขึ้นอย่างมาก ทั้งในคนที่ไม่เคยติดมาก่อน รวมถึงคนที่เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงไม่แปลกใจที่มีหลายฝ่ายยกให้ BA.5 เป็นศัตรูที่น่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีมา
2.ทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการ เสรีการเดินทางและการใช้ชีวิต หลายประเทศไม่ได้เน้นให้ประชาชนป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิต จึงทำให้เกิดการระบาดปะทุรุนแรงดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยสิ่งที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ ภาวะ Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิตสมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วยครอบครัว และสังคม
อ้างอิง