สภาเศรษฐกิจโลก ( World Economic Forum : WEF ) ประเมินความเสี่ยงโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งความล้มเหลวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สอดรับกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรไทย ที่ความอุดมสมบูรณ์ ลุ่มน้ำ ภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ทะเลสาบ มีแนวโน้มลดลง
แม้แต่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ก็กำลังได้รับผลกระทบและความท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งการขยายพื้นที่การเกษตร การเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงขยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลเชื่อมโยงต่ออนาคตภาคใต้ในทุกมิติ
การร่วมกันวางแผนเพื่อกำหนดและวางภาพอนาคต 10 ปีข้างหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะฝากความหวังไว้ที่ประชาธิปไตยแบบผู้แทน หรือนักการเมือง ในการกำหนดนโยบายเท่านั้น อาจไม่ตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการและบริบทของพื้นที่ หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า นวัตกกรรมประชาธิปไตย หรือ Democratic innovations จึงเป็นกลไกสำคัญ ไทยพีบีเอส จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดกระบวนการชวนหลายภาคส่วนทุกภูมิภาค ค้นหา ฉากทัศน์ของประเทศไทย และ ภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ โดยเวทีภาคใต้จัดขึ้นเป็นเวทีที่ 2 ต่อเนื่องจากภาคตะวันออก
เวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง เวทีแรกของภาคใต้ จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา มีตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทั้ง อายุ เพศ อาชีพ และพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 50 คน ร่วมสะท้อนเลือกภาพอนาคตภาคใต้ที่อยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2575 ซึ่งส่วนใหญ่เลือกภาพอนาคตหรือฉากทัศน์ในแบบพระอาทิตย์ทรงกลด ที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง การศึกษาและการเรียนรู้, สังคม, เศรษฐกิจ, รัฐ ราชการ ความมั่นคง, สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จากนั้นได้ร่วมกันทบทวนศักยภาพ ข้อจำกัด ไปจนถึงการวางข้อเสนอต่อภาพอนาคตในมิติต่าง ๆ
เริ่มฉากทัศน์อนาคตด้านการศึกษา ที่ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆในพื้นที่ภาคใต้เสนอร่วมกัน คือการศึกษาที่สร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและศักยภาพในตนเองและท้องถิ่น ให้ความสําคัญในการต่อยอดวัฒนธรรมในพื้นที่ เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาที่ตอบโจทย์วิถีชีวิต พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจและชุมชนได้
ที่สำคัญต้องเป็นการศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำ เรียนฟรีที่เกิดขึ้นจริง ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจบนฐานทรัพยากร ในพื้นที่ และสะสมหน่วยการเรียนรู้จากนอกห้องเรียนหรือการประกอบอาชีพตามบริบทพื้นที่ได้ การเรียนรู้ในโรงเรียนชุมชนเป็นฐานการใช้หน่วยกิจจากอาชีพหรือแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีในชุมชน
และมีการศึกษาภาคพลเมือง เพื่อการขับเคลื่อนทางสังคม ที่เหนือจากการเรียนในสถาบันการศึกษา แต่เกิดขึ้นได้จากทุกภาคส่วน ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อการพัฒนาพลเมืองเข้มแข็งและมีคุณภาพสู่สากล
ฉากทัศน์อนาคตด้านสังคม ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆในพื้นที่ภาคใต้เสนอร่วมกัน คือ เกิดเมืองน่าอยู่ สังคมสีเขียว มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและระบบการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมสากล
เป็นสังคมที่มีความเสมอภาค เท่าเทียม มีความหลากหลายทางความคิดของคนทุกเพศทุกวัย มีการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างคนทุกรุ่นโดยเฉพาะการให้โอกาสและรับฟังคนรุ่นใหม่ พัฒนาคน Genใหม่ให้พร้อม และคนหลายรุ่นสามารถพูดคุย ทํางาน ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันได้
เป็นสังคมแห่งความร่วมมือและมีส่วนร่วมผ่านหลายกลไก ตั้งแต่พูดคุยระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด แพลตฟอร์มออนไลน์ ไปจนถึงการให้การสนับสนุนพัฒนา เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้ชุมชนมีการจัดการตนเองที่ดีและเข้มแข็ง
โดยฉากทัศน์อนาคตด้านเศรษฐกิจรายได้ภาคใต้ ให้เกิดรูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มมูลค่าเชิงวัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์การท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ทั้งทางอาหาร สุขภาพ วัฒนธรรม วิถีชุมชน และสิ่งแวดล้อม (BCG และ SDG คือโอกาส) การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถิ่นเข้าถึงวิถีชุมชน
เกิดการบูรณาการ การพัฒนาความร่วมมือทุกภาคส่วน เชื่อมชุมชนกับเมือง พัฒนาธุรกิจชุมชน ให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสู่ตลาดโลก เช่น เมืองรองพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมืองหลัก เมืองท่องเที่ยวสนับสนุนเกิดการใช้สินค้าและบริการจากทัองถิ่น พัฒนาสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก
มีการกระจายรายได้ สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่อย่างทั่วถึง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดความจนข้ามรุ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแรง เพื่อทัดทานอํานาจผูกขาดทุนต่างประเทศ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ฉากทัศน์ด้านรัฐ ราชการ ความมั่นคง ที่ตัวแทนภาคใต้เสนอร่วมกัน คือ รัฐมีการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นไม่กดทับประชาชน ประชาชนมีอํานาจต่อรองและกําหนดทิศทางอนาคตของตนได้ท้องถิ่นจัดการตนเองได้จากฐานราก โดยรัฐจัดการไม่ให้อำนาจทุนสีเทากระทบกับอนาคตของประชาชน
ท้องถิ่นสามารถจัดการภาษีท้องถิ่น เลือกผู้ว่าระดับจังหวัด ลดทอนการผูกอํานาจการไม่ดึงอํานาจกลับไปสู่พวกพ้อง ทลายทุนทางการเมือง กฎหมายชุมชม กฎหมายประชาชน
รัฐขับเคลื่อนและมีการจัดการที่มีคุณภาพเท่าทันโลกเปิดรับให้โอกาสการพัฒนาแนวคิดใหม่ ลงทุนในการพัฒนางานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ
รัฐมีธรรมาภิบาลโปร่งใสและตรวจสอบได้ สามารถปรับโครงสร้างราชการให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ มีนโยบายที่ทําได้จริงเพื่อประชาชน ลดความขัดแย้งทางนโยบาย
ฉากทัศน์ ด้านสุขภาพและสาธารณสุข อยากให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ คนจนในชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์คนชายขอบ ผู้อยู่ชนบทห่างไกลจากตัวเมือง สามารถเข้าถึงการ รักษาขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ราคาไม่แพงและใกล้บ้าน
พัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นยาและสมุนไพร พัฒนาแพทย์พื้นบ้านพื้นถิ่นให้มีศักยภาพ ทั้งเพื่อคนในชุมชน และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้
การพัฒนาและใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้สูงวัยและคนทุกกลุ่ม
สำหรับฉากทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนภาคใต้ อยากให้เกิดการรักษาความสมบูรณ์และมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติดูแลสิ่งแวดล้อมให้สะอาดไร้พิษ ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ด้วยแนวคิดความยั่งยืน BCG/SDG และส่งเสริมการเกษตรสีเขียว
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่กระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ชุมชนมีอํานาจต่อรอง โดยประชาชนและคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการต่าง ๆ ที่จะกระทบพื้นที่ร่วมกัน
สร้างความร่วมมือระดับประเทศและระหว่างประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการทํางานด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน ไปสู่การลดผลกระทบระยะยาว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง