เงียบเหงาทัวร์: เริ่มต้นใหม่ สร้างการท่องเที่ยวยั่งยืน

อาจเรียกได้ว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวของไทย อยู่ในจุดเติบโตที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับเมื่อเกือบสิบปีก่อน จากปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ข้อมูลระบุว่า เป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 17.64 ของ GDP รวมทั้งประเทศ หรือเกือบ 1 ใน 5

เมื่อโรคระบาดทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อคุมระบาดภายในประเทศ ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว (Supply Chain) ทั้งนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ แรงงาน และชุมชน ฯลฯ ที่เคยพึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวเป็นหลัก “แทบไปไม่เป็น”

ที่จริงแล้ว แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่หลังประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม Earth Summit ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งมีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Agenda 21) เมื่อปี 2535 ส่งผลให้ไทยเริ่มทำการศึกษาความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวตามแนวทางนี้ และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปี 2540 ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายการท่องเที่ยวเพื่อรักษาระบบนิเวศ

และในปี 2546 มีการจัดตั้ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว ให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่เชิงคุณภาพ

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พยายามนำเสนอข้อมูลเป็นทางเลือก รวมถึงการสร้างแคมเปญด้านการท่องเที่ยวชุมชน แต่เมื่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น หลายธุรกิจมีผลประกอบการกลายเป็นศูนย์ และส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่

The Active ชวนดูโมเดลการท่องเที่ยวทางเลือก ในวันที่ประเทศไทยต้องนับหนึ่งอีกครั้งหลังเปิดประเทศ และยังตั้งเป้าว่า ภาคการท่องเที่ยว จะยังเป็นความหวังและเครื่องมือสำคัญในการฟื้นคืนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นอีกครั้ง


เปิดประเทศ เปิดโอกาสการท่องเที่ยว?

นับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา รัฐบาลไทยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 63 ประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีก่อนการระบาดของโควิด-19 นี่ถือเป็นช่วงไฮซีซัน ที่การท่องเที่ยวคึกคัก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก

โอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ นอกจากคำประกาศของนายกรัฐมนตรี ที่ชวนนับถอยหลัง 120 วันเปิดประเทศ เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ได้นำมาสู่การทยอยปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว จาก 46 ประเทศ เพิ่มเป็น 63 ประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะสามารถเดินทางเข้ามา มีเงื่อนไขขั้นต่ำ คือ ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส และต้องพักอยู่ที่โรงแรมก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อรอผลตรวจโควิด-19 แบบRT-PCR ซึ่งหากผลตรวจไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วไทย

ประเทศนอกบัญชีมาเที่ยวไทยได้หรือยัง? คำตอบคือ ได้ เพราะ ศบค. ได้กำหนด 17 จังหวัดสีฟ้า หรือ Living in The Blue Zone ไว้รองรับ คือ ภูเก็ต (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์), สุราษฎร์ธานี (สมุยพลัสแซนด์บ็อกซ์), กระบี่ (กระบี่แซนด์บ็อกซ์), พังงา (พังงาแซนด์บ็อกซ์), กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ (เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ), ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน และหนองแก), เพชรบุรี (ชะอำ), ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา), ระนอง (เกาะพยาม), เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า), เลย (เชียงคาน), บุรีรัมย์ (เมือง), หนองคาย (เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม), อุดรธานี (เมือง นายูง หนองหาน ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี บ้านดุง), ระยอง (เกาะเสม็ด) และจังหวัดตราด (เกาะช้าง)

โดยนักท่องเที่ยวต้องมีเอกสารรับรองฉีควัคซีนครบโดส มีผลตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงจากประเทศต้นทาง มีประกันภัยคุ้มครอง และต้องมีเอกสารยืนยันการชำระที่พักตามมาตรฐาน SHA PLUS ด้วย

แต่นี่อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียว ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในช่วงไฮซีซันได้ตามเป้าหรือไม่ ข้อสังเกตนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ปัจจัยเสริมที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมา ไม่เพียงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ระบาดและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนภายในประเทศเท่านั้น แต่ คุณภาพของวัคซีน และ ไวรัสกลายพันธุ์ ก็มีผลต่อการตัดสินใจ ว่าจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหรือไม่

นอกจากนี้ คือ มาตรการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทาง จริงอยู่ ว่าเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วพวกเขาไม่ต้องกักตัว แต่หลายประเทศยังกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง และต้องกักตัวเมื่อเดินทางกลับ หรือแสดงผลตรวจโควิด-19 ก่อนกลับเข้าประเทศตัวเอง

ส่วนนักท่องเที่ยวจีน ที่นับว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่กินสัดส่วน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะไทย-จีน (Thai-Chinese Intelligence Center หรือ TCIC) เปิดเผยผลการสำรวจผ่านทางออนไลน์ของชาวจีนทั่วประเทศ พบว่า พวกเขา พิจารณาจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศไทยเป็นหลัก ก่อนตัดสินใจว่าจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยหรือไม่ รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกักตัวทั้งต้นทางและปลายทาง


ท่องเที่ยวไทย กับเป้าหมายหลังเปิดประเทศ

ก่อนการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยในปี 2562 มีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เท่ากับ 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเมื่อเกือบสิบปีก่อน ข้อมูลนี้ปรากฏใน รายงานภาวะเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ไตรมาส 1/2563 สะท้อนว่าก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านการท่องเที่ยว (Tourism direct and indirect Gross Domestic Product) เท่ากับ 2,976,402.80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.64 ของ GDP รวมทั้งประเทศ และก่อให้เกิดการจ้างงาน 4,416,075 คน หรือประมาณ ร้อยละ 11.74 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ

เมื่อถึงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 หลายประเทศทั่วโลกทยอยออกมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ข้อมูลจาก องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า ในปี 2563 ผู้เดินทางท่องเที่ยวระหว่างเป็นเทศ ลดลงถึงร้อยละ 73.6 คาดว่าทั่วโลกจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากนับจากมูลค่าทางเศรษฐกิจ คือ ธุรกิจการบิน โรงแรมและที่พัก

สำหรับประเทศไทย ที่เคยพึ่งพารายได้ทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว ย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ แม้ในช่วงไตรมาส 3 – 4 ของปี 2563 สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น หลังตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีเดียวกัน

ขณะที่ข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุจำนวนผู้เยี่ยมเยือน ที่รวมทั้งนักท่องเที่ยวคงค้างในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใหม่ ว่าปี 2563 นักท่องเที่ยวชาวไทยคิดเป็นเกือบ 80 ล้านคนครั้ง ลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว คือ 40.1 ล้านคนครั้ง ที่ยังคงเดินทาง สร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จากเดิมในปี 2563 มีจำนวน 13.5 ล้านคน ลดลงเหลือเพียงราว 5 แสนคน ในปี 2564 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค. – ก.ย. 2564)

ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย ลดลงจาก 323,442 ล้านบาท เหลือ 132,683 ล้านบาท ขณะที่ชาวต่างชาติ ลดลงจาก 303,336 ล้านบาท เหลือเพียง 10,393 ล้านบาท เท่านั้น

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายรายประเมินตรงกันว่า แม้ประเทศไทยจะเปิดประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่หากจะหวังรายได้จากชาวต่างชาติ ให้ฟื้นคืนมาเทียบเท่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อาจเป็นไปได้ยาก สอดคล้องกับ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ประเมินว่าอาจจะยาวไปถึงปี 2567 ดังนั้น นักท่องเที่ยวชาวไทยจะมีผลอย่างมาก ในการช่วยให้การท่องเที่ยวโตขึ้นได้ภายหลังการเปิดประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างน้อย 3 โครงการ คือ เราเที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย และมาตรการคลายล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซัน ที่หากสถานการณ์ปกติ ช่วงไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาสแรกของปีถัดไป จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมาก แต่ในช่วงแรกของการเปิดประเทศนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ตลอดเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ถึงเดือนมีนาคมปีหน้า


“ปางช้าง” ตัวใหญ่ ล้มดัง ธุรกิจที่เติบโต แต่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ปางช้างนำเที่ยวเอกชน มากกว่า 100 แห่ง ต้องปิดกิจการถาวรจากทั้งหมด 250 แห่งทั่วประเทศ ตามข้อมูลของสมาคมสหพันธ์ช้างไทย สถานการณ์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เนื่องจากปางช้างหลายแห่งไม่สามารถทนแบกรับค่าใช้จ่ายได้อีกต่อไป เพราะขาดรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล ตั้งแต่จำกัดการเดินทาง จนถึงปิดกิจการ หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกือบ 2 ปี

จากจำนวนช้างที่ขึ้นทะเบียนตั๋วรูปพรรณทั้งหมด 3,900 เชือก ในจำนวนนี้ 200 เชือก เป็นส่วนที่รัฐบาลดูแล นั่นหมายความว่า มีช้างพร้อมควาญในธุรกิจนำเที่ยวกว่า 3,700 เชือก กำลังเผชิญสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะในจำนวนปางช้างที่ต้องปิดตัวลงเกือบทั้งหมด มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ หรือตัวแทนธุรกิจ (Nominee)

“เราเคยเจอกรณีที่ควาญกับช้าง ถูกบังคับให้ต้องออกจากปางภายใน 24 ชั่วโมง ต้องหารถกลับ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ เพราะว่าเจ้าของเขาไม่เอาแล้ว ทั้งที่บางคนอยู่กับเขามานานเป็นสิบ ๆ ปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าของปางช้างบางแห่ง บริหารงานอยู่ต่างประเทศอาจไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตควาญกับช้าง ดังนั้น เมื่อเขารู้สึกว่าธุรกิจไปต่อไม่ไหว เขาก็แค่ไม่ต่อสัญญา แต่ควาญกับช้างล่ะ”

แอดมินกลุ่ม “รวมช้างตกงาน”

คำบอกเล่าจากแอดมินกลุ่ม “รวมช้างตกงาน” สะท้อนปัญหาที่แม้จะเริ่มตั้งกลุ่มได้เพียง 1 เดือน แต่ก็เจอควาญช้างที่ขอความช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่า 500 กรณี และหากในสิ้นปีนี้ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเยี่ยมชมได้เหมือนเดิม มีแนวโน้มว่าปางช้างเอกชนที่เหลืออยู่ต้องปิดตัวลงถาวรเช่นกัน

นี่ไม่เพียงสะท้อนภาพปัญหาช้างตกงาน แต่ยังกระทบไปถึงแรงงานในห่วงโซ่ของธุรกิจประเภทนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น พนักงานในตำแหน่งต่าง ๆ ของปางช้าง พนักงานขายตั๋ว ประชาสัมพันธ์ คนขับรถนำเที่ยว แม่บ้าน ร้านอาหาร ฯลฯ หรือในภาคการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น ไกด์นำเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาคมสหพันธ์ช้างไทยได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อหารือหลักเกณฑ์ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นปางช้างในระยะยาวด้วย พร้อมกับหาเจ้าภาพในการดูแลช้างในระบบปาง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ทำให้สถานการณ์เวลานี้ไม่ต่างจากการถูกลอยแพ

อีกประเด็นสำคัญ คือ เม็ดเงินที่มาจากการท่องเที่ยวในวงจรธุรกิจปางช้าง ตามการศึกษาวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ช้างสามารถสร้างรายได้กว่า 2 ล้านบาทต่อเชือก/ปี หรือปางช้างจำนวน 250 แห่งในเขต 22 จังหวัด สร้างรายได้ให้กับประเทศรวมกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมาธุรกิจประเภทนี้กลับไม่เคยปรับตัว หรือได้รับการสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และยังคงพึ่งรายได้หลักที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ


มองผลกระทบทั้ง “ห่วงโซ่การท่องเที่ยว” ใครเป็นอย่างไร ในวิกฤตโรคระบาด

ธุรกิจปางช้าง เป็นเพียง 1 ในธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบนี้ ได้ส่งต่อเป็นวงจรไปยังธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมร้อยกันผ่าน “ห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว”

เฉพาะธุรกิจปางช้าง พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับรายได้ปานกลาง ถึงรายได้น้อย คือผู้ได้รับผลกระทบ ขณะที่ปางช้างอีกราว 150 แห่งที่ยังกัดฟันสู้ รอคอยสถานการณ์กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยว เกือบทั้งหมดหากเจ้าของไม่ใช่คนไทยที่เช่าช้างจากควาญ ก็เป็นเจ้าของช้างที่หันมาทำธุรกิจปางช้างเอง ทำให้ยังสามารถประคองธุรกิจต่อได้ เช่น หมู่บ้านช้างพัทยา ที่ผันตัวเองมาให้บริการในรูปแบบร้านกาแฟ ที่ลูกค้ายังสามารถชื่นชมช้างในปางได้ เพื่อต่อลมให้ใจให้กับแรงงานทั้งระบบ

ต่างจากอีกกว่า 100 แห่งที่ปิดตัวลงไปก่อนหน้านี้ พบว่าส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ หรือตัวแทนธุรกิจเป็นคนไทย (Nominee) จึงมองปางช้างเป็นเพียงหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ปี 2562 ไทยมีแนวคิด ห้ามต่างชาติถือครองธุรกิจปางช้าง

สองปีก่อน เมื่อครั้งที่ บุญทา ชัยเลิศ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฝ่ายอาเซียนสัมพันธ์ ได้จัดอบรมเจ้าของและผู้ประกอบการปางช้าง พร้อมดูแลสุขภาพช้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะสวัสดิภาพของช้าง ไม่ใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป พร้อมระบุว่า ไม่ได้การกีดกั้นการทำธุรกิจปางช้าง แต่ขอให้เป็นปางมาตรฐาน สร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนมากที่สุด แต่ขอสงวนไม่ให้ชาวต่างชาติมาทำปางช้างเด็ดขาด เพราะช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติไทยตั้งแต่โบราณกาล

ขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ครั้งที่ 53 เมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564 ธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เสนอในที่ประชุมว่า หากภายหลังจะมีการจดทะเบียนขอประกอบธุรกิจปางช้าง จะต้องได้รับมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาคมฯ ก่อน เพื่อกำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และในระยะยาวอยากให้มีเจ้าภาพที่ทำงานเกี่ยวกับช้างบ้านโดยตรง รวมถึงยกระดับอาชีพควาญช้างที่เป็น 1 ใน 20 อาชีพเก่าแก่ แต่สังคมยังขาดการรับรู้ ด้วยการมอบสูจิบัตรให้กับควาญช้างที่ผ่านการอบรมในด้านนี้ด้วย

ยกระดับการท่องเที่ยวปางช้าง สู่โอกาสกระจายรายได้ ผ่านการจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยว

แม้จะกล่าวว่าปางช้าง สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศราว 6,000 ล้านบาท/ปี แต่แนวโน้มภายหลังโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอธิบายว่า นักท่องเที่ยวที่แต่เดิมเป็นกลุ่มที่รับเข้ามาแบบเน้นปริมาณ จะลดน้อยลง โดยนักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มคุณภาพมากขึ้น แสวงหาการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์มากขึ้น การจำกัดรายได้อยู่เพียงกิจกรรมเดียว จึงอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยว แม้จะเปิดประเทศแล้วก็ตาม โดยได้วิเคราะห์ส่วนสําคัญของสินค้าและบริการที่ให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวโดยตรง ได้แก่

  1. แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยว
  2. การขนส่ง
  3. ที่พัก
  4. อาหาร

ส่วนการพัฒนาแนวทางการตลาดที่เหมาะสมสําหรับสินค้า การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ท้องถิ่น (Local Experience) พบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เลือกซื้อสินค้าประสบการณ์ท้องถิ่น ให้ความสนใจในการซื้อของที่ระลึกหรือของฝากน้อย โดยของที่ระลึกที่ประสบความสําเร็จ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่นําเสนอให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทําของที่ระลึกนั้น ในฐานะกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทําให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งอาจหมายรวมถึงธุรกิจปางช้างที่อาจทำได้มากกว่าการนั่งช้าง แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยมีช้างที่เป็นเอกลักษณ์เป็นตัวนำ


ห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Local Experience) ทางเลือกชุมชนท่องเที่ยวหลังโควิด-19

ปี 2560 ไทยเริ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการตลาดที่เหมาะสมสำหรับสินค้าการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ท้องถิ่น (Local Experience) ภายใต้โครงการ The LINK เป็นครั้งแรก ซึ่งผลการวิจัยมีข้อค้นพบที่สำคัญว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศมีทั้งเหมือนและแตกต่างกันตามปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล สังคม วัฒนธรรม ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและเสียโอกาส สิ่งสำคัญ คือ การดึงดูดใจของกิจกรรมท่องเที่ยวที่ต้องมีความหลากหลายของกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสามารถปรับตัวได้และเกิดความประทับใจในคุณค่าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น

เช่น พื้นที่ต้นแบบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่ใช่เส้นทางที่ยึดโยงโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ร่วมกันปรับแผนใหม่ โดยมุ่งเน้นที่ประสบการณ์ท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวจะได้รับในแต่ละกิจกรรม ที่นำมาเชื่อมโยงให้น่าสนใจ ประกอบในเส้นทางให้ครบถ้วนเหมาะสม ก่อนสรุปแนวทางการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน โดยเชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวในเส้นทาง ให้สามารถให้คุณค่าลักษณะเฉพาะของพื้นที่ต้นแบบ คือ “ธรรมชาติ ธรรมดา ท้าทาย คาดไม่ถึง” เช่น ห้วยตองก๊อ ต.ห้วยปูลิง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ชุมชนหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ยึดถือประเพณีวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่หมุนเวียน ทำนาขั้นบันได และเลี้ยงสัตว์ 

งานวิจัยฯ จึงเสนอว่าไม่ควรพัฒนาหรือปรับให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะจะทำให้ประสบการณ์การผจญภัย ความเดิมแท้ของวิถีชีวิตของชาวบ้านลดลง แต่ควรเพิ่มการทำงานร่วมระหว่างมัคคุเทศก์ และนักสื่อความหมายท้องถิ่น ที่สามารถพูดภาษากลางได้ ซึ่งที่นี่สามารถร่วมงานกันได้เป็นอย่างดี แม้นักท่องเที่ยวจะไม่สามารถสื่อสารด้วยการสนทนากับชาวบ้านได้เข้าใจความหมายทั้งหมด แต่ก็เป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวพยายามจดจำคำศัพท์ และไปถามความหมายกับมัคคุเทศก์

ขณะที่ชุมชนบ้านรวมไทย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เดิมมีชื่อเสียงในกิจกรรมชมสัตว์ป่า เช่น ช้าง กระทิง ที่ได้รับความนิยมจนเกษตรกรในพื้นที่หลายคน เพิ่มอาชีพเสริมเป็นคนขับรถนำเที่ยว ส่วนผู้หญิงรับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว ในช่วงโควิด-19 ที่นี่ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้ดีถึงการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบ Local Experience ที่อาชีพกว่าร้อยละ 90 ของคนในพื้นที่ทำการเกษตร ก่อนที่จะประสบปัญหาช้างป่าลงมากินผลผลิต เพื่อลดปัญหาระหว่างคนกับช้าง

อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและชาวบ้าน จึงร่วมกันจัดทีมเฝ้าระวังช้าง ก่อนจะมองเห็นโอกาสในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว ม.ศิลปากร มองว่า เมื่อนี่ไม่ใช่กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ผสมผสานกับวิถีชีวิตอย่างกลมกลืน เมื่อไร้เงานักท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงกลับไปทำอาชีพเกษตรตามเดิม แต่ระหว่างนั้น พวกเขาก็ยังร่วมกับทีมวิจัยในการยกระดับการท่องเที่ยว เช่น การทํากระดาษจากใบสับปะรดและมูลช้างป่า สบู่จากสับปะรดและรังไหม ชาใบหม่อน ผ้าย้อมสีธรรมชาติ กิจกรรมปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชน รับประทานอาหารเช้าในทุ่งหญ้า และอาหารค่ำท้ายไร่ร่วมกับชาวบ้านที่ต้องคอยเฝ้าไร่เพื่อระวังไม่ให้ช้างป่าเข้ามากินพืชผล ที่เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนผ่านการโปรโมทผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้าไปในแต่ละกิจกรรม


2 ทศวรรษ การส่งเสริมท่องเที่ยวไทย ไปทางไหนต่อดี?

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 รัฐบาลไทยใช้การท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประกาศให้ปี 2541 – 2542 เป็นปี ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย หรือ แคมเปญประชาสัมพันธ์ที่ใช้ชื่อว่า Amazing Thailand เมื่อชุมชนการท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม สิ่งนี้ได้ส่งผลให้ในปี 2544 การเกิดขึ้นของโครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ได้ช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหาซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชนเป็นของฝาก ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของThailand Homestay Standard หรือการส่งเสริมการจัดที่พักตามมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ก็ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปีถัดไป

ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่อแบบไหน แต่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้คำนิยามของ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ว่า เป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ เป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยดำรงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น สร้างเสริมความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียม

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในลักษณะนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนระหว่างคนต่างวัฒนธรรม และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น

เมื่อดูไทม์ไลน์โปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของการท่องเที่ยวที่ชูธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมถูกนำมาสร้างเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่คำถามสำคัญก็คือว่า นี่คือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยหรือไม่?

โควิด-19 ไม่ใช่วิกฤตแรกที่ประเทศไทยกำลังเผชิญร่วมกับนานาชาติ เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเผชิญกับวิกฤตมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะวิกฤตการเมือง การก่อการร้าย พิบัติภัยธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจและโรคอุบัติใหม่ในอดีต แต่ก็พิสูจน์ว่าประเทศไทยก็สามารถฟื้นคืนเศรษฐกิจกลับมา โดยมีรายได้ภาคการท่องเที่ยวเป็นจุดยึดเหนี่ยวที่สำคัญ

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย รายงานของ World Economic Forum (WEF) หรือ สภาเศรษฐกิจโลก ระบุว่า วิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ หนี้สินล้นโลก ความผันผวนจากตลาดเกิดใหม่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา วิกฤตการเงินของภาคธนาคาร รวมถึงวิกฤตจากการโจมตีทางไซเบอร์ นี่จึงเป็นคำถามว่า หากประเทศไทยยังมีต้นทุนในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ จะทำอย่างไร ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และไม่ล้มทั้งระบบเหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในวิกฤตโรคระบาดครั้งล่าสุด

สำหรับโอกาสการฟื้นตัวการท่องเที่ยวของไทย “การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ” ถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่อาจตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวหลังการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพยังมีบทบาทสำคัญ ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

อีกหนึ่งโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่าง “การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ” ที่ ททท. มองว่าเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่ไม่ตกยุค และประเทศไทยมีต้นทุนที่สำคัญ เช่น จังหวัดเชียงใหม่, วัดเจดีย์ไอ้ไข่ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบว่ากลุ่มที่เดินทางไปยังสถานที่ทางศาสนาหรือเกี่ยวกับการเคารพบูชา อาจไม่ใช่เพราะความเชื่อหรือศรัทธาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเพราะความโดดเด่นทางวัฒนธรรม และความสำคัญและคุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และความสวยงามทางสุนทรียศาสตร์

นอกจากนี้ “การท่องเที่ยวเชิงกีฬา” ยังถูกกำหนดอยู่ในแผนย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการท่องเที่ยว ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยคาดหวังว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงกีฬา มักใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น 3-4 เท่า นี่ทำให้ “เมืองกีฬา” หรือ Sport City เป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวหลังจากนี้

นี่จึงเป็นโอกาสที่จะคิดใหม่ว่า “การท่องเที่ยว” สามารถให้ประโยชน์อย่างไรแก่ชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม นอกเหนือไปจากเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะเมื่อความพรีเมียม (Premium) ของการท่องเที่ยวโดยชุมชน อาจไม่ได้หมายถึงความสะดวกสบาย แต่คือการได้ซื้อประสบการณ์พิเศษ ซึ่งเมืองไทยถือว่าได้เปรียบ เพราะแต่ละชุมชน ล้วนมีเรื่องราว

แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้ารัฐไม่ส่งเสริมหรือไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพื่อช่วยให้พวกเขาเปิดโลกท่องเที่ยวในมุมใหม่ ที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active