เปิดตัว iSEE 2.0 นวัตกรรมลดเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย | กสศ. จับมือนักวิจัย ม.นเรศวร ชูระบบช่วยเหลือเด็กยากจนตรงจุดด้วย Big Data เอ็กซเรย์ระดับพื้นที่ ชวนทุกภาคส่วนใช้สร้างความเสมอภาค
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบ “iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ซึ่งระบุว่าเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ทำให้การช่วยเหลือไปถึงเด็กยากจนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงตามสภาพปัญหารายคนอย่างแท้จริง
“iSEE 2.0” คือชื่อเรียก “ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่ย่อมาจากคำว่า “Information System for Equitable Education” เป็นนวัตกรรมการศึกษา (EdTech) ที่ใช้เทคโนโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลประชากรเด็กเยาวชนวัยเรียน เพื่อนำเสนอสถานการณ์การศึกษาในประเทศไทยด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แสดงข้อมูลรายบุคคลแต่ยังรักษาความเป็นส่วนตัว
ปัจจุบันครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและครอบครัว กับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน และกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและสอดคล้องกับการใช้งานจริง ช่วยให้ผู้ทำนโยบายมองเห็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงาน ภาคีต่าง ๆ ที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ กับ ‘ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร’ คือ ผู้วิจัยและพัฒนาระบบ โดยตั้งใจสร้างเครื่องมือขับเคลื่อนวาระทางสังคมด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ผนึกกำลังครูกว่า 5 แสนคน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่มีคุณภาพสูง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และผ่านการจัดเตรียม วิเคราะห์ Virtualization ที่พร้อมใช้สนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ล่าสุดได้พัฒนาถึงเวอร์ชันที่ 2 ซึ่งนับเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการศึกษาสำหรับประเทศไทย ที่จะช่วยยกระดับการค้นหา คัดกรองเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างละเอียด แสดงข้อมูลการสำรวจตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน จนถึงรายบุคคล ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์การศึกษาในประเทศไทย อัตราการมาเรียน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในอนาคต ฯลฯ โดยมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุกเดือน/สัปดาห์/วัน
ขณะนี้ “iSEE 2.0” พบ 78 ตำบลในประเทศไทยไม่มีโรงเรียน บางตำบลมีเด็กที่หายไปจากระบบการศึกษากว่า 400 คน, โรงเรียน 15 แห่ง ไม่มีไฟฟ้าใช้ หนึ่งในนี้มีโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่รอยืนยันข้อมูล, โรงเรียน 255 แห่ง ไม่มีอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และพบปัญหาอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น สภาพสิ่งแวดล้อม อากาศ เสียงในโรงเรียน สามารถดูรายได้ของครอบครัว ภาระ ทรัพย์สิน สภาพบ้านของนักเรียนได้จากจำนวนโรงเรียน 30,013 แห่งในขณะนี้
จุดเด่นของระบบ iSEE คือ การแสดงข้อมูลสุขภาวะและทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน ข้อมูลสถานะครัวเรือนและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ข้อมูลการเดินทางและอัตราการไปโรงเรียนของเด็กและเยาวชน ข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของโรงเรียน ที่ทุกคนจะรู้ได้ว่าเด็กยากจนอยู่ที่ไหนบ้าง มีปัญหาอะไร และจะช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างไร พร้อมกับติดตามพัฒนาการเด็กหลังจาก กสศ. ให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง
โดย กสศ. หวังว่าระบบ iSEE จะเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปรูปแบบการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง โดยเชิญชวนทุกภาคส่วน นำข้อมูลจากระบบไปใช้ประโยชน์สำหรับบริหารความช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็กยากจนขาดโอกาสอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ https://isee.eef.or.th/