กุมารแพทย์ 3 รพ. ยืนยัน ร่วมวิจัย ผลกระทบสารเคมีเกษตร

หลังถูกโต้แย้งงานวิจัย การตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก Thai-PAN เตรียมเอาผิดสมาคมวัชพืชฯ ปกป้องนักวิชาการถูกคุกคาม

วันนี้ (31 ส.ค. 2563) ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกุมารแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ และโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ร่วมชี้แจงถึงความร่วมมือในงานวิจัย การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก ที่พบสารพาราควอตและไกลโฟเซตตกค้างในขี้เทาของทารก และในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดา โดยยืนยันว่า เป็นความร่วมมือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ต้องการตอบคำถาม กรณีพบสติปัญญาเด็กไทยพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ โดยมีตัวแปร คือ สารไอโอดีน กับสารปราบศัตรูพืช ไม่ใช่การโจมตีบริษัทค้าอย่างที่มีการกล่าวอ้าง โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

ด้าน นายแพทย์วิโรจน์ ธนสารไพบูลย์ กุมารแพทย์โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ยังกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าว โดยศึกษาจากตัวอย่างหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่สารปราบศัตรูพืช และตรวจขี้เทาเด็กทารก ในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ถึง 5 เดือน พบว่ามีความผิดปกติด้านพัฒนาการ และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งทั้งหมดมีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ และเตรียมศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มเด็กอายุ 9-12 ปี

“ที่มาในวันนี้เพื่อเป็นการยืนยัน และเรามีหลักฐานแสดงอยู่แล้ว เพราะเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการยื่นขอให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้ว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือส่วนได้ส่วนเสีย แต่เมื่องานวิจัยถูกหยิบยกไปมีใช้อ้างอิง ก็อยากให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยให้เป็นประโยชน์ ว่าจะมีนโยบายในการกำกับ การดูแล การใช้สารเคมีให้ปลอดภัย ส่วนเรื่องแบนไม่แบนมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา”

ด้าน ศ.ดร.พรพิมล ยืนยันว่า จะยังทำงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป โดยหลังจากนี้จะเป็นการวิจัยสารเคมีเกษตรตกค้างในเด็กวัย 9-12 ปี จากกลุ่มตัวอย่างที่รับประทานอาหารกลางวันของโรงเรียน ว่ามีผลต่อพัฒนาการ สติปัญญา และการเติบโตก่อนวัย เพื่อตอบคำถามว่าสารเคมีการเกษตรมีผลกระทบในระยะยาวหรือไม่

การแถลงข่าวในวันนี้ เกิดขึ้นภายหลังสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความ ที่ระบุว่า โรงพยาบาล 2 ใน 3 แห่ง ที่ระบุชื่อไว้ในงานวิจัย ไม่มีส่วนรู้เห็นกับงานวิจัยนี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยอาจไม่มีความน่าเชื่อถือจนสามารถหยิบมาเป็นข้อมูลว่าสารพาราควอตเป็นอันตราย และต้องยกเลิกการใช้ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายหรือไม่

Thai-PAN ยังระบุอีกว่า เพื่อปกป้องนักวิชาการจากการถูกคุกคามและใช้ข้อมูลบิดเบือน จึงเตรียมเอาผิดสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ในข้อหาหมิ่นประมาท และเพื่อพิสูจน์ว่า มติการแบนสารเคมีตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น ดำเนินการไปด้วยหลักฐานทางวิชาการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน