นักวิชาการสันติวิธี ม.ธรรมศาสตร์ ระบุ รัฐควรจัดผู้มีทักษะการฟังเป็นผู้ช่วย ทำให้สิ่งที่เคยพูดไม่ได้ “พูดได้” ในทางสาธารณะ
วันนี้ (14 ต.ค. 2563) ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สะท้อนมุมมองต่อการจัดการและรับมือการชุมนุมวันนี้ว่า ได้เห็นถึงความพยายามของหลายฝ่ายในการหลีกเลี่ยงความรุนแรง ฝ่ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีทักษะในการจัดการมวลชน ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมแสดงเจตจำนงที่หลีกเลี่ยงและไม่ก่อความรุนแรง
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ มีการใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือ Hate speech ปลุกระดมมวลชนให้ออกมาแสดงตัวปกป้องสิ่งที่รัก และจัดการกลุ่มคนที่ทำลายสิ่งที่รักเทิดทูน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันแบบที่แกนนำไม่สามารถควบคุมได้
การชุมนุมที่ได้ยกระดับจากการแสดงท่าที มาสู่การปักหลักเรียกร้องที่อาจยืดเยื้อนั้น ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ เสนอให้นายกรัฐมนตรีเปิดห้องคุยกับนักศึกษาและแกนนำการชุมนุม โดยต้องจัดให้มีบุคคลที่มีทักษะการรับฟังที่ดี ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการพูดคุยด้วย
“ต้องยอมรับว่านายกฯ ไม่ใช่คนที่มีทักษะการฟังที่ดีนัก การมีผู้ช่วยฟังเป็นวิธีที่จะช่วยได้ ถึงแม้ข้อเรียกร้องบางข้อจะยากในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบันฯ แต่แค่ได้คุยกันในเรื่องที่ไม่เคยคุยกันได้ ก็นับเป็นก้าวสำคัญ ส่วนที่จะทำได้หรือไม่ได้ เป็นเงื่อนไขของกระบวนการที่ซับซ้อนที่ต้องไปแก้ไข และทำกันต่อไป”
ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์