แนะ พ่อแม่ทลายความเห็นต่าง เตรียมพื้นที่ในบ้านเป็นที่พึ่งเยาวชนหลังเผชิญเหตุรุนแรง
วันนี้ (17 ต.ค. 2563) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อคิดต่อกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านมา โดยพยายามสะท้อน ว่า ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมที่เต็มไปด้วยเยาวชน คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา จะยิ่งบ่มเพาะความรู้สึกเกลียดชังให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะรับบทหนักที่สุดคือครอบครัว เพราะเป็นพื้นที่รองรับความรู้สึกของบุตรหลาน หรือสมาชิกที่มีอารมณ์ร่วมกับการชุมนุม
แม้ที่ผ่านมาคำแนะนำที่ดีที่สุด คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องพร้อมทำความเข้าใจ ไม่ใช่การห้ามปราม สิ่งนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกครอบครัวที่ความเห็นต่างบาดลึกรุนแรง แต่อย่างน้อยคนเป็นผู้ปกครอง ก็ต้องไม่ลดละความพยายาม ที่จะทำความเข้าใจ พร้อมทั้งจำเป็นต้องดึงตัวเองออกมาจากการเป็นคู่ขัดแย้งทางความคิดกับลูก ๆ หลาน ๆ เพื่อทำให้บ้านเป็นที่พึ่งให้ได้มากที่สุด หลังต้องเผชิญกับทั้งเหตุการณ์ ข่าวสาร ที่กระทบต่อความรู้สึก ความคิด และอุดมการณ์ของพวกเขา
นพ.ยงยุทธ เน้นย้ำว่า การทำความเข้าใจต้องอย่าบอกว่าใครมากกว่าใคร ระหว่าง “การรักษาสิ่งที่ดีให้ยังคงอยู่” กับ “การอยากเห็นสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง” แต่ให้พยายามพูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่เป็นรากฐานว่าเกิดจากอะไร ที่สำคัญคือต้องประคับประคองความรู้สึกของกันและกัน เพราะเรื่องบางเรื่องอาจต้องคุยและถกเถียงอีกยาวนาน แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ระหว่างทางก็ต้องพูดคุยให้ได้ฉันทามติร่วมกันว่าการแก้ปัญหาความเห็นต่างต้องไม่จบด้วยความรุนแรง
“ครอบครัว คือ ปฐมบทของประชาธิปไตย คนในครอบครัวจึงต้องมีวุฒิภาวะเพียงพอ พร้อมเปิดกว้างรับฟังความเห็น ซึ่งในทางจิตวิทยาครอบครัวก็มีเรื่องให้ต้องฉุกคิดเมื่อ ลูก ๆ ต้องไม่ลืมว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนเลี้ยงลูกมาตั้งแต่เล็กจนโตเพื่อให้มาเป็นเด็กเลว และก็ไม่มีปู่ย่า ตายาย ที่เลี้ยงดูพ่อแม่ของเรามาให้เป็นคนไม่ดี ดังนั้นพ่อแม่ก็ไม่ต้องไปมองว่าลูกเป็นคนชังชาติ ส่วนลูก ๆ เองก็ต้องไม่มองพ่อแม่ว่าเป็นสลิ่ม หรือหัวโบราณ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ถูกเลี้ยงดูมาจากพื้นฐานที่เริ่มจากสิ่งดี ๆ ด้วยกันทั้งนั้น หากคิดแบบนี้ได้ จะทำให้ความรู้สึกแย่ ๆ ไม่มาบั่นทอนความรักของคนในครอบครัว และความรู้สึกเห็นต่างกันก็จะค่อย ๆ คลี่คลายลงไปได้”
นพ.ยงยุทธ ยังฝากถึงภาครัฐ ว่า ต้องหันกลับมาทบทวนแนวทางที่ใช้ และปัญหาจะนำไปสู่ทางออกได้ต้องไม่ใช่เริ่มต้นจากการเปิดฉากใช้มาตรการควบคุมคนเห็นต่างด้วยความรุนแรง สิ่งจำเป็นในเวลานี้คือต้องไม่ใช้ความรุนแรงในทุกกรณี เพราะความรุนแรงไม่ว่าจะเป็น คำพูด ความคิด ไปจนถึง มาตรการทางกฎหมาย ทุกอย่างจะยิ่งบ่มเพาะความรู้สึกขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น สิ่งนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย และยังส่งผลกระทบให้ปัญหาอื่น ๆ แก้ไขยากขึ้นไปอีก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ จะแก้ไม่ได้ถ้าบรรยากาศในสังคม ยังไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเจรจา รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน