ส่งมอบล็อตแรก พ.ค. 64 และสั่งซื้อจากจีน ส่งมอบ ก.พ.-เม.ย. พร้อมจัดหาเพิ่มให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีน ฟรี ตามเป้าหมาย 50%
3 ม.ค. 64 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบไซเอนซ์ จำกัด แถลงข่าวความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
นายแพทย์ศุภกิจกล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับหลายฝ่าย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัคซีนในเวลาไม่ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ โดยตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย ได้เตรียมการหาข้อมูล วางเป้าหมาย วิธีการทำงาน มีกลไกต่าง ๆ ที่จะทำให้ได้วัคซีนมา ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลการวิจัยวัคซีนชนิดใดที่จะประสบความสำเร็จ ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยรัฐ ฟรี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร หรือประมาณ 70 ล้านโด๊ส โดยได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโด๊สกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้ อยู่ระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม อีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเจรจากับ COVAX Facility ทำข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนที่คาดว่ามีโอกาสนำมาใช้ได้ รวมทั้งได้เจรจากับบริษัทอื่น ๆ เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, บริษัทจากประเทศจีน หรืออาจขอซื้อเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย นอกจากนี้ มีข่าวดีว่าจะได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน 2 ล้านโด๊ส โดยได้รับปลายเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 200,000 โด๊ส ปลายเดือนมีนาคม 800,000 โด๊ส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโด๊ส
นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า ณ เวลานี้วัคซีนมีจำนวนไม่มาก แม้แต่ประเทศที่เริ่มฉีดแล้วก็เริ่มทยอยฉีดไม่สามารถฉีดพร้อมกันได้ในครั้งเดียว ไม่ใช่สินค้าที่จะหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด ที่สำคัญคือจะต้องมีระบบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย จะไม่มีการซื้อวัคซีนจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีผลการทดลองเฟส 3 รองรับ บริษัทเอกชนที่จะนำมาจำหน่ายต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่สำคัญคือทุกล็อตที่จะออกสู่ท้องตลาดต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งไทยมีกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ผ่านกระบวนการที่ยืนยันว่ามีมาตรฐานเพียงพอ ให้เกิดความมั่นใจว่าให้คนไทยได้วัคซีนเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งเมื่อได้รับวัคซีนมาแล้ว จะดำเนินการตามหลักการบริหารจัดการวัคซีน มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย วิธีการในการให้วัคซีน การเตรียมสถานบริการ การควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย 4 ชนิดวัคซีน เช่น mRNA, Viral Vector, Inactivated และ Sub unit protein ในประเทศไทยจะยอมรับการขึ้นทะเบียนที่มีผลของเฟส 3 มีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับมีเพียง 3 ชนิดคือ ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) และแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่เหลือเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินโดยใช้ผลการทดลองเฟส 2 เท่านั้น แม้วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 2563 ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา และวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกชนิดยังไม่สิ้นสุดการทดลอง ซึ่งทั้งของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนหลังสามเดือน ในขณะที่ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยจองซื้อได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานควบคุมกำกับของอังกฤษแล้ว เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563
สำหรับข่าว 10 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านโด๊สนั้น เกิดจากการจองวัคซีนล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 โดยขณะที่ทำการจองนั้น ยังไม่ทราบผลเบื้องต้นของการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน มีความเสี่ยงสูงมากที่วัคซีนจะไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับวัคซีน สำหรับประเทศไทย การจองวัคซีนล่วงหน้าก่อนทราบผลเฟส 3 โดยมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับวัคซีนนั้น ได้อาศัยการออกประกาศ ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 และได้จองวัคซีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
นายแพทย์นครกล่าวต่อว่า ส่วนคำถามความเป็นไปได้ที่ภายในมกราคม 2564 จะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่จะถึงร้อยล้านโด๊สหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ เนื่องจากขณะนี้วัคซีนมีจำนวนจำกัด ทุกบริษัทกำลังขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอใช้กับประชากรทั้งโลก ซึ่งเป็นโอกาสดีให้เราได้เห็นข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีนมากขึ้น เมื่อมีการใช้วัคซีนในประชากรกลุ่มใหญ่ จะทำให้มีโอกาสพบอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนที่พบได้ยากมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้มุ่งอยู่กับวัคซีนของ AstraZeneca เพียงอย่างเดียว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายการจัดหาวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชาชนไทยในปี 2564 ซึ่งมีการดำเนินการในหลายแนวทาง อย่างไรก็ตาม การจองซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโด๊ส เป็นเพียงข้อตกลงชุดแรก ขณะนี้ยังมีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอีกหลายบริษัท ไม่ได้มีการเจาะจงว่าจะทำความร่วมมือเฉพาะกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง
ทั้งนี้ ไม่ได้มีการปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนมาจำหน่ายในประเทศ โดยทำตามกระบวนการที่จะต้องได้รับการอนุมัติจาก อย. เพื่อเป็นการประกันว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งได้มีแผนรองรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดย อย. ได้มีการเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินไว้แล้ว สามารถประสานขอข้อมูลส่วนนี้ได้จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ด้าน ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่ โรงงาน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องจักร ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโด๊สต่อปีหรือเดือนละ 15 ถึง 20 ล้านโด๊ส
ทั้งนี้ จะมีการทดสอบใน 5 รอบการผลิต แต่ละรอบผลิตห่างกัน 14 วัน ใช้เวลารอบละ 120 วัน (4 เดือน) เป็นการผลิต 60 วัน และอีก 60 วันสำหรับการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ โดยผลิตรอบแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา กำลังดำเนินการผลิตรอบที่ 2 เมื่อผลิตครบ 5 รอบจะนำผลยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตวัคซีนคือคุณภาพและความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้และจะมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ