‘อนุทิน’ เผย EU ยังไม่ให้ส่งวัคซีนโควิด-19 ออกนอกเขต คาด ใช้จาก ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ เริ่ม มิ.ย. เดือนละ 5 ล้านโดส วอน ยกเรื่องการเมืองออกจากวัคซีน
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ว่า โควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ต้องเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคให้สำเร็จ ป้องกันการเสียชีวิตให้มากที่สุด สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในไทย ถือว่าไม่ได้รุนแรงเท่าประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้ติดเชื้อวันละหลักแสนคน โดยไทยใช้วิธีการควบคุมโรครับมือสถานการณ์ ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ป้องกันควบคุม รักษา จัดหาเวชภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนความปลอดภัย แต่ต้องการความร่วมมือประชาชนที่ทำตัวเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ไม่ไปในสถานที่เสี่ยงคนแออัด
สำหรับวัคซีนโควิด 19 ทั่วโลกยังใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนด้วย เดิมได้วางแผนจะเริ่มฉีดในเดือนมิถุนายน 2564 เพราะต้องใช้เวลาในการคัดเลือกวัคซีนที่เหมาะสมประเทศไทยที่สุด กรณี บริษัท แอสตราเซเนกา พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คัดเลือก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของไทยเป็นฐานการผลิตให้อาเซียน เป็นโอกาสที่คนไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีโรงงานในประเทศและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
“หากติดตามข่าวในช่วง 2 สัปดาห์ เรากำลังจะได้วัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดส จากกลุ่มยุโรป แต่ติดปัญหาที่สหภาพยุโรป (EU) ไม่ให้ส่งวัคซีนออกนอกเขต จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเลือกใช้วัคซีนผลิตในไทย ภายใต้แบรนด์เชื่อถือได้ เดือนมิถุนายนวัคซีนของไทยเพื่อคนไทยจะไม่หายไปไหน จะเริ่มฉีดได้เดือนละ 5 ล้านโดส จนครบ ถือว่าไม่ช้าเกินไป รวมทั้งเตรียมระบบรองรับหลังการฉีด หากมีอาการแพ้มีผลข้างเคียงต้องดูแลรักษาทันที จากนี้ไปประชาชนจะได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและถ้วนหน้า จากโรงงานผลิตในประเทศแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ขอให้ยกเรื่องการเมืองออกจากเรื่องวัคซีน การเมืองเป็นการบริหารประเทศ วัคซีนเป็นเรื่องชีวิตของประชาชน ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตประชาชนมาทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง หรือสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง แต่ทุกคนมองว่าวัคซีนจะทำให้ประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ปราศจากความมุ่งหวังใด ๆ ทางการเมือง
ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนาถึงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้ 5 จังหวัดควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด สามารถควบคุมได้ ไม่ใช่ตัวเลขการติดเชื้อเป็น 0 จากการตรวจเชิงรุกที่ทำในกลุ่มเสี่ยงพื้นที่เสี่ยง เฉพาะในเขตสุขภาพที่ 6 (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ตรวจไปแล้วประมาณ 1 แสนคน โดยติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกลุ่มเสี่ยงครบ 100 % ใน 2 จังหวัด คือ จันทบุรีและตราด
ส่วน 6 จังหวัดเฉลี่ยประมาณ 90 % โดยสร้างทีมคณะกรรมการโรคติดต่อในจังหวัดให้ติดตามผู้ติดเชื้อที่เป็นสะเก็ดไฟ และต้องดับไฟให้ได้ใน 48 ชั่วโมง ตามนิยามการควบคุมโรค จึงมั่นใจว่าควบคุมได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมยังทำงานเชิงรุกต่อเนื่องทุกวัน คิดค้นนวัตกรรม นำเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อในน้ำลายหรือในน้ำทิ้งมาใช้ในกลุ่มโรงงาน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า
“เราสอบสวนโรคย้อนกลับไป 90 % พบต้นตอทั้งหมด ในรายที่หาต้นตอไม่ได้ ได้นำคนใกล้ชิดครอบครัว/เพื่อนร่วมงานไปตรวจหาเชื้อ จึงพูดเต็มที่ว่าเราควบคุมในโซนนี้ได้แล้ว ส่วนเรื่องวัคซีนกว่าจะมีวันนี้ ได้ไปเจรจากับแอสตราเซเนกา/ซิโนแวค โดย ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำงานหลังบ้านตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เริ่มเจรจาตั้งแต่ พ.ค. 2563 ไม่ง่าย ทุกส่วนทำงานเต็มที่ ตอนผมเป็นรัฐมนตรีใหม่ ๆ ยังไม่เคยรู้ว่ามีสถาบันวัคซีนฯ การประชุมทุกเดือนมีการเตรียมกฎหมาย ม.18 แต่ตอนนั้นยังไม่มีสถานการณ์โควิด แต่สถาบันฯ ทำงานล่วงหน้ามาก่อน เป็นความมั่นคงของชาติในอนาคตต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม”
ด้าน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนโควิด 19 ได้เตรียมการตั้งแต่เกิดการระบาด เมื่อมกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกลุ่มสถาบันทางการแพทย์ ทำความตกลงร่วมกันที่จะร่วมพัฒนาวัคซีนในประเทศ คู่ขนานไปกับความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ รวมทั้งการหาแหล่งผลิตเพื่อนำวัคซีนเข้ามา เป้าหมายสร้างความมั่นคงวัคซีนของประเทศในยามปกติและในภาวะฉุกเฉิน
ทั้งนี้ การจัดหาวัคซีนโควิด 19 เป็นการบริหารจัดการท่ามกลางความเสี่ยง ไม่สามารถใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ปกติได้ เพราะหากวัคซีนวิจัยไม่สำเร็จก็ไม่คืนเงิน จึงต้องใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงทางวัคซีนแห่งชาติ ม.18 ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉิน ในเรื่องของการจัดหาวัคซีน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้จองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส
“การจองที่ผ่านมามีความยาก เพราะเป็นการร่วมลงทุนการวิจัย ถ้าสำเร็จได้คืนกลับมาเป็นวัคซีน ไม่สำเร็จก็เอาเงินไป ทุกบริษัทที่เดินเข้ามาบอกจะจองล่วงหน้าวางเงินก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องรับความเสี่ยงร่วมกัน อยากใช้เร็ว มั่นใจ ต้องรอปี 2565 การจองแบบมีความเสี่ยงนี้ ต้องปรึกษาสิบทิศ ทั้งทีมกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง”