เรียกร้อง ทส. ให้ทำ EIA โครงการเขื่อนกันคลื่น

หลังประกาศยกเลิกตั้งแต่ปี 2556 พบ หลายโครงการไม่จำเป็น และกระทบสิ่งแวดล้อม เครือข่ายฯ ระบุ กว่า 7 ปีที่ผ่านมา เสนอมากถึง 74 โครงการ ใช้งบประมาณเกือบ 7 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 เฟซบุ๊กเพจ Beach For Life ชวนประชาชนร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้นำเอาโครงการประเภท “กำเเพงกันคลื่น” กลับมาเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA) โดยเร็วที่สุด

เนื้อหาระบุว่า หลังจากที่มีการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตั้งแต่ปี 2556 ทำให้หน่วยงานภาครัฐได้เสนอโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากถึง 74 โครงการ เป็นระยะทางรวม 34,875 เมตรตลอดแนวชายฝั่ง ใช้งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า หลายโครงการไม่มีความจำเป็น และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่าหลายพื้นที่อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

“เมื่อสร้างเสร็จในพื้นที่หนึ่ง กำแพงกันคลื่นจะส่งผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านท้ายน้ำ ซึ่งทำให้เป็นเหตุต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อย ๆ”

ที่ผ่านมา ศาลปกครอง เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา หลังจากมีประชาชนยื่นฟ้องขอให้ยุติโครงการ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ตรวจสอบพบว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดมหาราช  อ.สทิงพระ จ.สงขลา ไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่สอดคล้องกับการทำหน้าที่ของรัฐในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมเสนอให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาทบทวนโครงการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างริมทะเล เช่น กำแพงริมชายหาด ต้องจัดทำ EIA

ทั้งนี้ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเคยเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA และจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าของโครงการต้องปฏิบัติ  ซึ่งเป็นไปตามหลักประกันต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากากรดำเนินโครงการจะได้รับการป้องกันแก้ไข หรือมีมาตรการลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเป็นหลักประกันว่าประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียจะได้มีส่วนร่วมในโครงการอย่างแท้จริง แต่ต่อมาปี พ.ศ. 2556 ได้มีการประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA โดยให้เหตุผลเพื่อให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินการของรัฐให้สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างทันท่วงที

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว