“ณัฏฐพล” โต้ เป็นตัวเลขอนาคตหลังจัดการขนาดโรงเรียนเหมาะสม เบื้องต้นยึด 21 บาท
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายกรณี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน จากวันละ 20 บาทต่อคน เป็นวันละ 21 บาท จากเดิมที่เคยอภิปรายไว้ว่าจะเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนเป็นวันละ 36 บาท ว่าแม้มีความพยายามพอสมควร ในการเสนอให้ปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน และเปลี่ยนจากการให้เท่ากันหมด มาเป็นการให้ตามขนาดของโรงเรียน โดยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แสดงเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ จนปรับเป็นอัตราดังกล่าว
จนเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 นายณัฐพลได้ออกมาเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน มีทั้งเรื่องลดภาระครู การเพิ่มค่าอาหารกลางวัน การให้นักเรียนอาชีวะใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือสังคม และยกเลิกการสอบการศึกษาระดับชาติ (O-Net)
แต่แล้วเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเห็นชอบปรับค่าอาหารกลางวันนักเรียนเป็น 21 บาท เป็นการปรับขึ้นค่าอาหารกลางวันครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็ขึ้นมาบาทเดียว สุดท้ายนักเรียนก็ยังหิวเหมือนเดิม เพิ่มไข่สักฟองก็ยังไม่ได้
ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้เปิดคลิปวิดิโอที่ รมว.ศธ. เคยพูดไว้ในการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ต่อกรณีที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอให้เพิ่มงบฯ อาหารกลางวันนักเรียนเป็นวันละ 23 บาทต่อคน โดยบอกว่าเป็นการเสนอที่ไม่ได้ใช้สมอง ถ้ามีสมองมันต้องเพิ่มเป็น 36 บาท เพิ่มให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน
“แล้วท่านไปใช้สมองอย่างไร เลยออกมาเป็น 21 บาท ของขวัญประเทศไทยจากกระทรวงศึกษาธิการ เหรียญบาทในมือผมกล้องซูมยังไม่เห็นเลย เรื่องลาออกไปผมไว้ทีหลัง อย่างน้อยวันนี้ท่านจะต้องขอโทษสภาฯแห่งนี้ที่ทำตามที่พูดไม่ได้ และขอโทษ ส.ส.วิโรจน์ ในการพาดพิงว่าการเสนอของท่านไม่ได้ใช้สมอง โชคดีที่ยังขึ้นให้ตั้ง 1 บาท ถ้าขึ้นให้แค่ 75 สตางค์ ผมจะเรียกท่านว่ารัฐมนตรีไม่เต็มบาท ฉายาที่ผมอยากให้รัฐมนตรีท่านนี้เลยก็คือ รัฐมนตรีบาทเดียวซื้อไข่เจียวยังไม่ได้ซักฟอง”
นายปดิพัทธ์ อภิปราย
“ณัฏฐพล” ยอมรับ ค่าอาหารกลางวันนักเรียน 21 บาท น้อย แต่กำลังพยายามปรับเพิ่มในอนาคต
ด้าน ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลที่ไม่สามารถเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนเป็นวันละ 36 บาทได้ ด้วยภาระงบประมาณที่ทุกกระทรวงล้วนอยากได้งบประมาณมากที่สุดสำหรับกระทรวงตัวเอง แต่ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงงบฯ ภาพรวมทั้งประเทศที่วันนี้มีปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาอื่น ๆ มากมาย
“ผมเป็นคนเสนอ ถ้าท่านดูคลิปเมื่อสักครู่ ผมพูดถึงงบประมาณ 36 บาท และวันนั้นต่ำสุดคือ 24 บาท แต่เมื่อผมได้ไปทำการบ้าน ได้ไปดูถึงข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นกับภาระของงบประมาณ ผมปรับ 36 บาท ลงมาถึง 21 บาท เพราะถ้าเผื่อ 24 บาท โรงเรียนขนาดใหญ่ของเราก็ได้มากเกินไป”
ณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ค่าอาหารกลางวันที่จะปรับเป็นวันละ 21 บาทต่อคน มีการพูดคุยกับสำนักงบประมาณที่มีข้อกังวลว่า ถ้าเพิ่มงบฯ เป็นขั้นบันไดตามที่ รมว.ศธ. เสนอ จะเพิ่มภาระงบประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท
“ทำไมจะให้ไม่ได้ครับกับเด็ก ๆ ของเรา แต่ผมจะอธิบายแผนของผมต่อว่า 21 บาทเป็นพื้นฐาน เพราะในอนาคตจะมีโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่มีนักเรียนเกิน 300 คนขึ้นไปมากขึ้นจากแผนบูรณาการของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนขนาดเล็กจะเหลือแค่โรงเรียนที่เป็น Stand alone ฉะนั้นข้อมูล Data จะชัดเจนว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ควรมีอยู่อย่างเหมาะสมในการบริการชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน ควรจะมีเท่าไร แล้วจากนั้นเราจะสามารถคำนวนตัวเลขที่เหมาะสมได้”
รมว.ศธ. เพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงกำลังทำแผนบูรณาการการศึกษาทั้งประเทศ เป็นแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.ปดิพัทธ์ และในค่าใช้จ่ายของนักเรียน 21 บาท/คน/วัน ยอมรับว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อย แต่เดิมค่าอาหารกลางวันคนละ 20 บาท มีค่าบริหารจัดการอยู่ 4.50 บาท สำนักงบประมาณขอให้เหลือ 2.50 บาท ฉะนั้นที่ ส.ส.ปดิพัทธ์ พูดว่า 1 บาท ความจริงคือ 3 บาท
“ผมบอกเลยว่าทำไมสำนักงบประมาณถึงอนุมัติแค่ 21 บาท เพราะสิ่งที่เราอนุมัติเป็นปีงบฯ 2565 เริ่มต้นเดือนตุลาคม ยังมีเวลาเอาตัวเลขมาคิด แล้วถ้าเผื่อได้มีโอกาสเอาตัวเลขเข้ามาตามที่ผมคาดหวังไว้ ก็จะนำเสนอใน ครม. ต่อไป 15 บาท”