หลัง “ก้าวไกล” ซักฟอก นายกฯ เอื้อทุนพลังงาน ทำประชาชนจ่ายไฟแพงขึ้น
18 ก.พ. 2564 – เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายช่วงดึก โดยเป็นการอภิปราย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานและรัฐวิสาหกิจ เปิดโอกาสให้เอกชนรายหนึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงานและสัมปทานจากภาครัฐ
ปรับ PDP เอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ทำไฟฟ้าล้น ส่งผลประชาชนจ่ายไฟแพงขึ้น
เบญจา กล่าวว่า ปัจจุบันอัตรากำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยมีล้นเกินและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2557 ขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 60% ในปี 2563 ทั้งที่อัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น และยังล้นเกินมาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 ซึ่งสาเหตุสำคัญเพราะมีการให้สัมปทานโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“ดูผ่าน ๆ ก็จะคิดว่าเป็นเพราะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าผิดพลาดไปมากเกินไป แต่แท้จริงแล้ว PDP ของ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นแผนที่มีการปรับบ่อยมาก ปกติ PDP จะใช้แผนละ 5 ปี แต่หลังจากการรัฐประหาร พล.อ. ประยุทธ์ ก็ทำการเปลี่ยนไปแล้ว 3 แผน จนอดคิดไม่ได้ว่าแก้แผนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่”
และจากต้นทุนการผลิตไฟที่เกินความจำเป็น ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงมากขึ้นทุกปี จากการ พล.อ.ประยุทธ์ แจกสัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับเอกชนรายใหญ่ หรือ โรงไฟฟ้า IPP มากจนเกินไป และนานเกินไปถึง 25 ปี ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีราคาแพงเกินไป โดยเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนจะต้องจ่ายเงิน 2 ก้อน โดยก้อนแรก เป็นการจ่ายตามจำนวนหน่วยที่ซื้อ หรือค่า EP ซื้อเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ ถ้าซื้อน้อยก็จ่ายน้อย ส่วนก้อนที่ 2 เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่าค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP ซึ่ง คือ รายจ่ายของการไฟฟ้าที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาจะคงที่ทุกปี ไม่ว่าจะซื้อไฟหรือไม่ซื้อไฟก็ตาม คือ ซื้อหรือไม่ซื้อก็ต้องจ่าย และสุดท้ายก็กลายเป็นต้นทุนที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาร่วมกันแบกค่าไฟฟ้าที่สูงจนเกินจริง
เบญจา ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าต้องจ่ายเพื่อให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมที่จะจ่ายไฟอยู่ตลอดเวลา และประเทศอื่น ๆ ก็ทำกัน แต่สำหรับประเทศไทยค่า AP ที่จะต้องจ่าย ทำให้ทางโรงไฟฟ้าเหมือนได้เงินลงทุนคืนทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนอีก 20% เพราะได้รวมค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ค่าดอกเบี้ย แล้วก็บวกกำไรให้ด้วย แถมภาษีก็ไม่ต้องจ่าย เพราะว่าได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
“ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าผลประโยชน์เป็นอย่างไร โดยดูได้จากเอกสารสัญญาผลิตไฟฟ้าของบริษัทเอกชนเจ้าหนึ่งที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ยกขึ้นมาแสดง โดยตามสัญญาได้ระบุไว้ว่า นายทุนพลังงานผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดห้าร้อยกว่าเมกะวัตต์นี้ จะได้รับการการันตีค่า AP ต่อปีสูงถึงหลักพันล้านบาท ไม่ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ หรือ 500 เมกะวัตต์ ก็ตาม”
เบญจา กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถเสียค่าไฟฟ้าได้ถูกกว่านี้ ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ร่วมมือกับนายทุนพลังงาน จนทำให้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเกินความจำเป็นไปอย่างมาก และเมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ พบว่า ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและเป็นฐานการผลิตให้กับประเทศอื่น ๆ มาลงทุนเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ประเทศเหล่านั้นกลับมีค่าไฟฟ้าถูกกว่ามาก
โดยประเทศอินโดนีเซียมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาท 74 สตางค์ ประเทศเวียดนามมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาท 40 สตางค์ และประเทศมาเลเซียมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1 บาท 96 สตางค์ แต่พวกเราคนไทยต้องแบกรับค่าไฟฟ้าราคาหน่วยละประมาณ 3 บาท 80 สตางค์ แพงกว่าทุกประเทศที่กล่าวมาทั้งหมด
ยกสัมปทานโครงการรัฐ โดยไม่เปิดประมูล
เบญจา ยังกล่าวด้วยว่า ทุนพลังงานกลุ่มใหญ่ในปัจจุบันคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยในช่วงไม่กี่ปีนี้ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้ทำให้บริษัทกัลฟ์ฯ สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจนขึ้นไปมีส่วนแบ่งการตลาดจาก 7% ขยับไปที่ 20% เป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในกลุ่มทุนพลังงาน ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น
โดย เบญจา ยกกรณีโรงไฟฟ้าหินกองที่มีการยกผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนโดยไม่มีการประมูล, การให้สัมปทานในโครงการยักษ์ใหญ่ EEC ถมทะเลพันไร่ มาบตาพุด เฟส 3 มูลค่าโครงการ 47,900 ล้านบาท, งานติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) ค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย คือ บางปะอิน-โคราช และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่เพิ่งปิดดีลไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท
รวมทั้งการประมูลที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของ EEC ที่ชนะเพราะคู่แข่งถูกตัดสิทธิเพียงเพราะการเซ็นชื่อลงในเอกสารไม่ตรงช่อง ยิ่งเมื่อปรากฏตามข่าวว่าข้อเสนอของกลุ่มกัลฟ์นั้นจะให้ประโยชน์กับรัฐเพียง 12,000 ล้านบาท ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเสนอให้ผลประโยชน์แก่รัฐสูงถึง 27,360 ล้านบาท ชวนให้ตั้งข้อสงสัย
กรณีโรงไฟฟ้าหินกอง เบญจา ระบุว่า เมื่อช่วงปี 2562 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้ยกโรงไฟฟ้าหินกอง ให้กับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องเปิดให้มีการประมูล ซึ่งกลุ่มทุนมีการตั้งบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า บริษัทดังกล่าวถือหุ้น 100% โดยบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ราช กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่จำนวน 51% ส่วนหุ้นอีก 49% ถือครองโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ด้วย
นายกฯ ยืนยันทำตามแผนพลังงาน
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงประเด็นเอื้อกลุ่มทุนพลังงานว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมด ย้อนหลังไปนานมากเกินไป ตั้งแต่ปี 2557 เพราะฉะนั้น ถ้าจะย้อนต้องย้อนไปก่อนปี 2557 ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพลังงาน ซึ่งการที่กล่าวว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นั่นมันนานมาแล้ว ซึ่งตนเข้ามานั่งในสภาพร้อมกับ ส.ส.เบญจา และรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และการเข้ามาไม่ต้องบังคับใคร เพราะเป็นเรื่องของการดำเนินการในเรื่องของสภา ส.ส. และรัฐบาลเชิญตนเองให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทราบดีว่าต้องถูกถามถึงเหตุผลว่าเข้ามาเพื่ออะไร ถ้าเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ ไม่เข้ามาให้ปวดหัวหรอก เพราะเหนื่อยมากกว่าจะใช้สมองทำงาน ถ้าคิดว่าจะโกงนะ เพราะไม่ชอบการทุจริตคดโกง ซึ่งในช่วงนั้น แม้ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. แต่ก็มีการฟ้องไปหลายคดีด้วยกัน แต่พิสูจน์มาแล้วว่าไม่มีความผิดตามนั้น ไม่ใช่ว่าไม่เคยถูกตรวจสอบมาเลย ซึ่งมีการฟ้องศาล และไม่เคยไปสั่งศาล
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ใช้คำสั่ง คสช. ในการแก้ปัญหาของประเทศ แก้ปัญหาที่ติดขัด แก้ปัญหาที่ไม่ชอบธรรมในช่วงที่ผ่านมา มีเจตนาโดยบริสุทธ์ สุจริต โดยก่อนเข้ามามีการอนุมัติด้านพลังงานอยู่แล้ว 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พบว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะเป็นสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นทำไว้ ซึ่งยกเลิกไม่ได้ และในเรื่องการพัฒนาเป็นการดำเนินการตามแผนของพลังงานอยู่แล้ว ถ้าทำถูกต้อง ไปโทษเขาไม่ได้ ถ้าทำผิดโทษรัฐบาล วันนี้คิดว่ารัฐบาลตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด
รมว.กระทรวงพลังงาน ชี้โควิดกระทบใช้ไฟฟ้า
ด้าน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีไฟฟ้าแพงและกำลังการผลิตเกินความต้องการ โดยระบุว่า การออกแบบแผนกำลังการผลิตเป็นแผนของปี 2561 โดยทำปี 2560 โดยประเมินความต้องการใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น ซึ่งสอบถามสภาอุตฯ สภาพัฒน์ ทุกฝ่าย แล้วพยากรณ์ไปอีก 20 ปี โดยจีดีพี ณ เวลานั้น 3.8% ต่อปีต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีใครทราบว่าปี 2563 จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19
ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลงจากเดิมไป 10% ซึ่งเกิดกันทั้งโลก ส่วนปริมาณการพยากรณ์ที่เกิดตั้งแต่ปี 2560 นั้น เขาต้องออกแบบก่อน จึงต้องมีการผลิตเกิดขึ้นก่อน เพราะการผลิตกว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง จำเป็นต้องตัดสินใจ และลงทุนเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้การผลิตทันกับความต้องการใช้ ซึ่งเป็นปกติ เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้ามาตลอดเวลา
สุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า กรณีไฟฟ้าแพง ที่ไฟฟ้าต่างประเทศถูก เพราะเขามีสัดส่วนของถ่านหินและน้ำสูงกว่าประเทศไทยมาก ซึ่งต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกที่สุดมาจากถ่านหินและน้ำหรือเขื่อน ซึ่งไทยทราบอยู่แล้วแต่ไม่ได้สร้าง เราจึงเป็นแก๊สธรรมชาติส่วนใหญ่ จึงแพงกว่าเขา และเรามีพลังงานทดแทนเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเกษตรกรและชุมชนต่าง ๆ ได้มีโอกาสทำโครงการชีวมวล เมื่อนำมาเฉลี่ยจึงแพงกว่าต่างประเทศ ยืนยันไม่มีนโยบายผูกขาดให้ใคร มีเพียงโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นเพื่อวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เท่านั้น