กรมอุทยานฯ​ วอน ไม่รุกป่า-ล่าสัตว์ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอุบัติใหม่

เผยผลดำเนินงานด้านโรคอุบัติใหม่และ โควิด 19 ย้ำชัดพร้อมหลักฐาน ชี้​ “ตลาดนัดจตุจักร” ไม่ใช่แหล่งแพร่โรค แต่สำรวจพบเชื้อแบบเดียวกับไวรัสโคโรน่าในค้างคาวมงกุฎในไทย​จริง

1​ มี.ค.​ 2564 – รุ่งนภา​ พัฒนวิบูลย์​ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช​ กล่าวว่า​ จากสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่และโรคโควิด 19 ทำให้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและสำรวจโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติ จากผลการศึกษาวิจัยทั่วโลก พบว่า​ ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสโคโรนาหลายชนิด​ กรมอุทยานฯ​ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ พบว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวอย่างน้อย 146 ชนิดทั่วประเทศ และจากการลงพื้น​ที่สำรวจร่วมกัน​ พบสารรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากค้างคาวมากกว่า 400 ตัวอย่าง​ ทั้งที่เป็นไวรัสเดิมที่พบทั่วโลก​ และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีรายงานก่อโรคในคน

“อาจเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่น ที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต จึงต้องระมัดระวังการสัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด​ การปนเปื้อนเชื้อโรคจากซากสัตว์ป่า​ หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า​ ดังนั้น การป้องกันคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์​ป่า​ งดการล่าหรือการบริโภคสัตว์ป่า​ และบุกรุกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคต”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS