โฆษกรัฐบาล แถลง นายกฯ ขอ สื่อ เสนอข่าวการชุมนุมตามจริง ย้ำเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสากล

“หมอทศพร” เตือนสติเจ้าหน้าที่ แยกคนก่อเหตุกับประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงเหวี่ยงแห

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (2 มี.ค.2564) ถึงกรณีการสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำนโยบายให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบ ยืนยันรัฐบาลไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่ขอให้แสดงออกภายใต้กฎหมาย หลีกเลี่ยงการยั่วยุ ไม่ให้เกิดความรุนแรง

รวมทั้งยังขอให้สื่อมวลชนเสนอข่าวตามความเป็นจริง เพราะรัฐบาลพยายามที่จะปฏิบัติทุกเรื่องให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในเรื่องการเตือนผู้ชุมนุม จึงขอให้สื่อมวลชนได้รายงานข้อมูลอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการต่างๆ ตำรวจได้มีการเตือนผู้ชุมนุมอย่างไร ในจังหวะใด ขอให้สื่อมวลชนรายงานภาพรวมทั้งหมด ไม่รายงานแค่ผู้ชุมนุมบาดเจ็บหรือถูกจับกุมเท่านั้น เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

“หากผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรง ก็คงไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บถึง 90 นาย ดังนั้น ขอให้รายงานข้อเท็จจริงให้มากที่สุด”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิต ซึ่งหลังจากนี้ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้ขึ้นอีก จึงอยากให้ผู้ชุมนุมได้ตระหนักในเรื่องนี้ การแสดงออกภายใต้กฎหมาย และหลีกเลี่ยงความรุนแรงในทุกกรณี

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย วันนี้ (2 มี.ค.2564) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย นำผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 มาร่วมแถลงข่าว โดยระบุว่า ขอฝากเตือนสติไปยังตำรวจว่า ไม่ควรจะใช้ความรุนแรงในการจัดการกับประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมอย่างสงบ สันติ ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในวันนั้นเจอใครที่ใช้ความรุนแรงและมีอาวุธ ก็สามารถเข้าไปควบคุมตัวเอาไปดำเนินคดีได้อยู่แล้ว

แต่ก็จะเห็นคลิปที่ถูกเผยแพร่เป็นภาพคนที่ขว้างอาวุธแล้วก็เข้าไปหลบหลังแนวตำรวจ เหมือนต้องการจุดชนวนความรุนแรงขึ้น หรือมีภาพคนที่ขว้างสิ่งของ แล้วเข้าไปหลบหลังแนวประชาชน แต่ทำไมตำรวจไม่จัดการกับกลุ่มคนพวกนี้ เหมือนปล่อยเชื้อให้มีคนที่จะก่อความรุนแรง เพื่อที่ตำรวจจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังจัดการกับผู้ชุมนุมหรือไม่ เพราะผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม

“คนบาดเจ็บที่เจอส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่คนที่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่คนที่โยนประทัดหรือระเบิดปิงปอง แต่เป็นคนที่อยู่แนวหน้าที่ช่วยคุ้มครองประชาชนที่กลายเป็นคนที่โดน ส่วนคนที่ทำวิ่งไปหลบหลังแนวตำรวจ หลังแนวประชาชน แล้วก็ขับมอเตอร์ไซด์หนี”

นพ.ทศพร กล่าวด้วยว่า การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งของความวุ่นวาย เพราะแกนนำคือคนที่คอยควบคุมทิศทางการชุมนุม โดยการชุมนุมในวันนั้น ส่วนตัวต้องเข้าไปแทรกระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม และขอเจรจา ซึ่งก็สำเร็จในช่วงแรกเท่านั้น การชุมนุมจึงควรมีแกนนำที่ชัดเจน และตำรวจก็ต้องเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชนที่ไปชุมนุม แต่ควรดูแลความปลอดภัยเท่านั้น

และเห็นด้วยว่าสื่อมวลชนเองก็มีความเสี่ยงในการรายงานสถานการณ์ในขณะนั้น และมีข้อจำกัดการถ่ายภาพที่อาจจะไม่สามารถบันทึกได้ทุกมุม ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสื่อเลือกข้าง จึงเรียกร้องประชาชนให้ใจกว้างและให้เกียรติสื่อมวลชน ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สื่อมวลชนรายงานให้รอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลอย่างชัดเจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว