อดีต กสม. แนะ พล.อ. ประวิตร เป็นตัวกลาง แก้ปัญหาบางกลอย

ชี้ “วราวุธ” เจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ ไม่เท่าทัน กรมอุทยานฯ ที่ยึดแต่หลักกฎหมาย แก้ปัญหาไม่ได้ ฝ่ายการเมืองต้องเข้าไปรับผิดชอบ

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ให้เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายราชการและชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย หลังสถานการณ์ความขัดแย้งยังไม่ยุติ เหมือนพายเรือวนในอ่าง

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำกับดูแลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญในกรณีบางกลอย จะพยายามแก้ไขปัญหา แต่ตัวรัฐมนตรีเองอาจจะยังมีประสบการณ์ไม่พอในการจัดการ โดยเฉพาะเมื่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยึดกฎหมายอย่างแข็งตัว ไม่ยอมรับสิทธิชุมชน และไม่เข้าใจความยากลำบากของชาวบ้านที่ถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งความไม่เข้าใจเหล่านี้ก็นำไปสู่การฉีกบันทึกข้อตกลงที่มาจากการประสานของฝ่ายการเมือง

“รัฐมนตรีวราวุธ อาจจะมีเจตนาดี แต่มีข้อมูลไม่มากพอ และรู้ไม่เท่าทันในการดูแลหน่วยงานในกรมอุทยานฯ ซึ่งแข็งในเรื่องการของการยึดระบบราชการและกฎหมาย แถมยังเป็นคู่ขัดแย้งที่ผ่านมา ดังนั้น จึงพบปรากฏการณ์ที่มีปัญหาเกิดขึ้น และกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาตามธงที่ตั้งไว้ตอนแรกของการตั้งคณะทำงานนี้”

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ความอ่อนแอและการไม่รู้เท่าทันยังจะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายราชการที่จะมาทำร้ายประชาชน ดังนั้น เมื่อระบบราชการที่มีอยู่มันแก้ไม่ได้ ก็ต้องหาคนกลาง จึงหลีกหนีไม่ได้ที่ฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งรองนายกฯ ประวิตรรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ต้องเข้ามาดูแลสิ่งที่กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นบทบาทการเป็นตัวกลางประสานความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในหลายกรณี อย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา โดยผ่านตัวแทนอย่าง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ จนสามารถคลี่คลายความขัดแย้งลงได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารก็เคยวางกลไกแก้ปัญหาในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นเจตจำนงค์ทางการเมืองของฝ่ายบริหารที่เป็นบรรทัดฐานที่ดีมากอยู่แล้ว ยังมีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ดินในเขตป่า หรือกลไกการทำงานภายใต้คณะกรรมการพีมูฟ ที่พลเอกประวิตรฯ เป็นประธาน ซึ่งฝ่ายการเมืองก็สามารถยืนยันให้หน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตามกลไกที่มีอยู่แล้ว

“มีโครงสร้างของรองนายกฯ ประวิตรอยู่แล้ว ไม่ใช่ต้องคิดกลไกใหม่ ใช้กลไกเดิม เพราะถ้าคณะทำงานที่มีอยู่กำลังทำให้เกิดปัญหาการเผชิญหน้า ขณะที่ชาวบ้านก็จะไม่ยอมแล้ว เพราะทนต่อความยากลำบากไม่ได้ ตรงนี้คือจุดที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหาทันที ไม่ใช่การแทรกแซง แต่ใช้กลไกเดิมของฝ่ายบริหารที่มีอยู่”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว