เตรียมรับมือน้ำเค็ม-กร่อย อีกระลอก กอนช. เร่งแผนระบายน้ำ ลดผลกระทบน้ำทะเลหนุนสูง

เหตุ สถานีสูบน้ำดิบสำแล ปทุมธานี แหล่งผลิตน้ำประปากรุงเทพฯ ปริมณฑล หยุดสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปานานไม่ได้ เร่งวางมาตรการระบายน้ำ ลดผลกระทบ ก่อนน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้ง ช่วง 9-12 และ 26-28 มี.ค. 64

สถานีสูบน้ำดิบสำแล ต.สำแล จ.ปทุมธานี ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อการผลิต น้ำประปาสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะห่างจากปากอ่าวไทย ประมาณ 90 กิโลเมตร แต่หากน้ำทะเลรุกสูงถึงจุดสูบน้ำดิบสำแล ก็จำเป็นต้องนำน้ำเข้าคลองประปาเพื่อผลิตน้ำประปา เพราะคลองประปาแห้งไม่ได้

หากหยุดสูบภายใน 2 ชั่วโมง จะทำให้น้ำในคลองประปาแห้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบมากกว่า เช่นเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝั่งตะวันออก ก็รับรู้รสชาติน้ำประปากร่อย จากปัญหาภัยแล้งน้ำน้อยในลุ่มเจ้าพระยา ที่ไม่สามารถดันน้ำจืดลงผลักดันน้ำเค็มได้มากพอ

ประกอบกับผลพวงของความแปรปรวนสภาพอากาศ ก็ทำให้การประปานครหลวง (กปน.) ทำงานยากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่คนปลายน้ำอย่างคนกรุงเทพฯ กระทบเต็ม ๆ หากตอนบนไม่บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของคนตอนล่าง เพราะแต่ละวัน กปน. จะพยายามส่งน้ำเข้าระบบประมาณวันละ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมลฑล ฝั่งตะวันออก ก่อนเข้าระบบจ่ายน้ำประปาครอบคลุมพื้นที่ กว่าร้อยละ 70 ที่ต้องใช้น้ำประปานครหลวงอุปโภคบริโภค

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สถานีสูบน้ำดิบมักเกิดปัญหาน้ำทะเลรุกสูงเกือบทุกปี ส่งผลให้หลายภาคส่วน รวมถึงระดับรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมแก้ปัญหา ขณะที่ปีนี้ มีจุดน่าสังเกตว่าลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change มีผลทำให้น้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ดันมาถึง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวหลังลงพื้นที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 เพื่อรับทราบปัญหา ขณะเดียวกันเร่งบูรณาการหน่วยงานด้านน้ำ เตรียมรับมือปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนมีนาคม 2564 นี้ ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงวันที่ 9-12 มี.ค. และ 26-28 มี.ค. จึงมอบหมายให้กรมชลประทานร่วมกับการประปานครหลวง บริหารจัดการน้ำจากเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ต้องควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกินเกณฑ์คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร มีการกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน และให้ประเมินน้ำต้นทุนพร้อมวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดให้เพียงพอสำหรับต้นฤดูฝน ส่วนการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กอนช. ได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยการบริหารจัดการแม่น้ำสำคัญในการผลักดันน้ำเค็มเร่งด่วนก่อนที่จะถึงช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ใน 2 ช่วงเดือนมีนาคมนี้

สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา จะบริหารจัดการเพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยาที่ไม่กระทบปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน และการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองไม่เกิน 500 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง การควบคุมการสูญเสียน้ำระหว่างทางและการควบคุมการระบายน้ำเสีย

ส่วนแม่น้ำท่าจีน จะมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง บริเวณจุดต้นคลองจินดาเพื่อผลักดันน้ำที่เพิ่มเข้ามา ผ่านคลอง 6 ,7 และ 8ข-5ซ ลงคลองระบายท่าผา คลองบางแก้ว และคลองตาปลั่ง ตามลำดับ การส่งน้ำเข้าระบบชลประทานเพื่อเจือจางค่าความเค็มในคลอง และเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ประตูระบายน้ำสองพี่น้อง และคลองท่าสาร-บางปลา ลงสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างเพื่อผลักดันน้ำเค็ม

สำหรับแม่น้ำบางปะกง มีการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ในลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์