คนเผาพระบรมฉายาลักษณ์ โดน ม.112 ด้วย แจง จับ “โตโต้” เป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่ต้องใช้หมายจับ ขณะแอมเนสตี้ ห่วง ดำเนินคดี ปิดกั้นเสรีภาพคนเห็นต่าง
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. แถลงวันนี้ (9 มี.ค. 2564) ว่า การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันนี้หลายจุดนั้น เขตกรุงเทพฯ ยังอยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งการชุมนุมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นความผิดตามกฎหมาย
ส่วนกรณีการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ทางเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมออกเป็น 6 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่ 1 ปิยรัฐ จงเทพ กับพวก 18 คน จะถูกดำเนินคดีในข้อหาสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อเตรียมการกระทำผิดตามภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ม.215 วรรค 1 และ 2 โดยการจับกุมที่เกิดขึ้นเป็นการจับกุมตามความผิดซึ่งหน้า จึงไม่ต้องใช้หมายจับ นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม ม.209 รวมทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
กลุ่มที่ 2 กรณีผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ แต่ได้หลบหนีไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงาน ส่วนนี้จะมีความผิดใน 4 ข้อหาเช่นเดียวกับ 18 คนแรก และความผิดตาม ม.190 ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาหลบหนีจากการควบคุมของเจ้าพนักงาน
ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการปรากฏตัวต่อตำรวจ สน.พหลโยธิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับและได้ปล่อยตัวให้กลับบ้านไปก่อน หลังจากนี้ก็จะพิสูจน์ทราบว่า บุคคลทั้ง 27 คนที่มามอบตัวกับเจ้าหน้าที่นั้น เป็นผู้ที่หลบหนีไปจากการควบคุมใช่หรือไม่ ถ้าเป็นบุคคลที่หลบหนีไปจากการควบคุม พนักงานสอบสวนก็จะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อกล่าวหาเดิม และอีก 1 ข้อหาใหม่
นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องหาบางส่วนที่ไม่ได้มาพบกับตำรวจในวันนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะออกหมายเรียกเช่นเดียวกัน
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ปรากฏภาพ คลิป กลุ่มบุคคลหรือกลุ่มการ์ด ที่ทุบทำลายรถของทางราชการ และได้ร่วมกันชิงตัวผู้ต้องหา มีการทำร้ายเจ้าพนักงานและชิงของกลางบางส่วนไปจากการดูแลของเจ้าพนักงาน ในส่วนนี้จะมีความผิดตาม ม.191 ประกอบ ม.83 ร่วมกันช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุมในอำนาจของพนักงานสอบสวน ให้หลุดพ้นไปจากการดูแลของเจ้าพนักงาน
และถ้าความปรากฎว่า ผู้ชุมนุมคนใดมีหลักฐานโยงว่ามีการทำลายทรัพย์สินหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ ก็จะมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตาม ม.138 และ ม.140 รวมทั้งความผิดทำให้เสียทรัพย์ของทางราชการ
กลุ่มที่ 4 ตามที่ปรากฏภาพมีกลุ่มบุคคลทุบทำลายแนวรั้วและทรัพย์สินของศาลอาญา มีการนำสิ่งต่างๆ มาเผา รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ มีการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการของศาลอาญาและสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นความผิดข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการในเวลากลางคืน และบางส่วนเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และพนักงานสอบสวนกำลังดูความผิดตาม ม.112 ด้วย
กลุ่มที่ 5 ผู้ชุมนุมอื่นๆ ตามที่เคยเตือนว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่มีประกาศห้ามชุมนุม ซึ่งการชักชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม หรือสนับสนุนให้มีการชุมนุม ตลอดจนการเป็นผู้ชุมนุม ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
กลุ่มที่ 6 เป็นกรณีที่เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. ที่เจ้าหน้าที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนกำลังเดินทางกลับ ได้มีกลุ่มบุคคลใช้ลูกเหล็ก หนังสติ๊ก และอาวุธปืน ยิงใส่เจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้รถทางราชการได้รับความเสียหาย เป็นรถกระบะ 1 คัน รถหกล้อ 2 คัน และรถบัส 3 คัน ซึ่งจากการตรวจของกองพิสูจน์หลักฐาน ร่องรอยของการถูกยิง น่าเชื่อว่าถูกยิงด้วยอาวุธปืน จึงกำลังพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าด้วยหรือไม่
สำหรับกรณีที่นายปิยรัฐอ้างว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวหายไป รอง บช.น. กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุมีกลุ่มคนมาทุบทำลายรถ และแย่งชิงผู้ต้องหา รวมทั้งชิงหรือปล้นทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับรายงานจากผู้บาดเจ็บเมื่อวานนี้ว่า ผู้บาดเจ็บมีความเป็นห่วงทรัพย์สิน และของกลางบางส่วนที่ซ่อนเอาไว้ใต้เบาะ ตำรวจจึงได้ตรวจสอบและพบของกลางที่นายปิยรัฐกล่าวอ้างไว้เป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ได้ทรัพย์สินคืน ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ สร้อยคอ และพระเลี่ยมทองนั้น พนักงานสอบสวนได้เข้าไปพบกับผู้เสียหายแล้ว หลังจากเจ้าของทรัพย์สินออกจากโรงพยาบาลตำรวจ โดยจะมีการแจ้งความร้องทุกข์ตามระเบียบอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการนัดหมายชุมนุมวันนี้ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ไว้เพียงพอต่อการดูแลความสงบเรียบร้อย ทั้งที่ศาลอาญา เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และเรือนจำธนบุรี
แอมเนสตี้ ห่วง ดำเนินคดี ปิดกั้นเสรีภาพคนเห็นต่าง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ (9 มี.ค. 2564) ระบุว่า สืบเนื่องจากการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ที่มีจำนวนมากกว่า 382 คน ใน 207 คดี และการไม่ให้ประกันตัวแกนนำผู้ชุมนุม ถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นต่างอย่างเป็นระบบ
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ทางการไทยดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากอย่างเป็นระบบ ซึ่งในบางคดี หากมีการพิจารณาว่ามีความผิดจะมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่ได้สัดส่วน อีกทั้งยังมีระยะเวลาการดำเนินคดีที่ยาวนาน การดำเนินคดีต่อกับผู้เห็นต่างหรือผู้วิจารณ์การทำงานรัฐ จึงถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อปิดปากและตอบโต้บุคคลที่กล้าท้าทายอำนาจรัฐ
“การดำเนินคดีจำนวนมากและการไม่ให้ประกันตัว สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ประชาชนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะออกมาแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมต่อประเด็นทางสังคม”
ปิยนุช ระบุด้วยว่า ทางการไทยต้องยุติการปฏิบัติต่อผู้ออกมาวิจารณ์ราวกับเป็นอาชญากรหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาโดยทันทีหากขาดหลักฐานว่ากระทำความผิดอาญาตามหลักสากล