ผู้จัดการระบบ TCAS แจงสาเหตุ “เลื่อนสอบไม่ได้” หลังแฮชแท็ก #dek64กําลังถูกทิ้ง พุ่งติดเทรนด์

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ได้ตอบคำถามใน ActiveTalk “Update #Dek64 หลัง TCAS ประกาศไม่เลื่อนสอบ” ที่ถ่ายทอดสดทาง Facebook และ YouTube “The Active”

จากกรณีที่มีนักเรียนบางส่วนเรียกร้องให้มีการเลื่อนสอบ TCAS หรือ การสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาปี 2564 ซึ่งกำหนดสอบ GAT-PAT วันที่ 20-23 มี.ค. , O-NET วันที่ 27 และ 29 มี.ค. , 7 วิชาสามัญ วันที่ 3-4 เม.ย. และวิชาเฉพาะของบางสาขา วันที่ 6-10 เม.ย.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2564 ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) มีมติร่วมกันว่า “ไม่ควรให้มีการเลื่อนสอบ TCAS ปี 2564” พร้อมให้เหตุผลผ่านแถลงการณ์ 10 ข้อ หากมีการเลื่อนสอบจะส่งผลกระทบกับผู้ที่ประสงค์จะสอบในวันเวลาเดิม รวมไปถึงกระทบต่อการสอบคัดเลือกอื่น ๆ

The Active รวมคำอธิบายของ ‘พีระพงศ์ ตริยเจริญ’ ผู้จัดการระบบ TCAS ที่มาตอบคำถามว่าทำไมถึงไม่เลื่อนสอบ หลังแฮชแท็ก #dek64กําลังถูกทิ้ง พุ่งติดเทรนด์

พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบ TCAS ให้สัมภาษณ์ใน ActiveTalk 8 มี.ค. 2564

Q : วันสอบวิชาสามัญ 3-4 เม.ย. 2564 ตรงกับวันเกณฑ์ทหาร จะดำเนินการอย่างไร

A : ในแถลงการณ์ที่มีมติร่วมกันไม่ควรให้มีการเลื่อนสอบ ข้อ 10 ได้แจ้งให้นักเรียนที่มีปัญหาวันเกณฑ์ทหารตรงกับวันสอบ 7 วิชาสามัญ ส่ง Inbox เข้ามาที่เพจเฟซบุ๊ก Mytcas.com เราต้องการเก็บข้อมูลเพื่อประสานงานต่อไปว่าจะดำเนินการกับน้องกลุ่มนี้อย่างไร ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีนักเรียนที่ได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารแจ้งเข้ามาเพียง 12 คน 

นักเรียนต้อง Inbox เข้ามาภายใน 15 มี.ค. นี้ เพราะเราต้องมีข้อมูลตรงนี้ไปคุยกับปลัดกระทรวงกลาโหม โดย สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รับปากว่าจะไปเจรจาให้

Q : ที่สุดแล้วความชัดเจนในการดำเนินการ เกี่ยวกับวันสอบวิชาสามัญตรงกับวันเกณฑ์ทหาร อยู่ที่การไปคุยกับกระทรวงกลาโหม หรือ การเลื่อนสอบ TCAS

A :  ไม่เลื่อนสอบ TCAS ตอนนี้พอมีทางเลือกแล้ว แต่ยังไม่อยากบอกเดี๋ยวน้อง ๆ จะงงกัน เพราะยังไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย แต่ไม่เลื่อนสอบแน่นอน เพราะการเลื่อนสอบมีผลกระทบอื่น ๆ มากมายเต็มไปหมด เราจะเลื่อนสอบได้ในกรณีที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน

Q : สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นประเด็นความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียนหรือไม่

A : หลังเกิดสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ ได้เตรียมแผนบริหารความเสี่ยงไว้หมดแล้ว ขณะนี้ยังไม่ถึงขนาดต้องเลื่อนสอบ ตอนนี้เราเห็นตัวเลขการระบาดเริ่มเบาบางแล้ว และรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำลังจะออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้น

Q : ทำไมปี 2557 ถึงเลื่อนสอบ GAT-PAT ได้ แต่ปีนี้เลื่อนไม่ได้

A :  ถ้าดูตามประวัติศาสตร์ วันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2556 เป็นช่วงเวลาที่มีปัญหาทางการเมือง จากการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการปะทะกันหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 57 คน มีการปิดถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ตอนนั้นพื้นที่ชุมนุมหลายแห่งอยู่ใกล้สนามสอบ ก็ต้องตัดสินใจว่าถ้าปล่อยให้มีการสอบเกิดขึ้น นักเรียนที่เดินทางมาสอบใกล้พื้นที่ชุมนุมอาจมีการบาดเจ็บหากเกิดเหตุชุลมุน จึงเห็นว่าควรเลื่อนสอบ โดย GAT-PAT ในปีนั้น มีการสอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกสอบวันที่ 7-10 ธ.ค. 2556 ครั้งที่ 2 กำหนดไว้วันที่ 8-11 มี.ค. 2557

Q : มีนักเรียนหลายคนพยายามอธิบายเหตุผลว่า ปีการศึกษา 2563 เลื่อนเปิดเทอมกว่า 1 เดือน เจอ COVID-19 ระลอกใหม่ เวลาเรียนก็ยิ่งน้อย จึงอยากขอให้เลื่อนสอบ

A : ปีที่แล้วตอนที่กระทรวงศึกษาเตรียมเลื่อนเปิดเทอม ทปอ. มีการหารือ 3 ฝ่ายกับ สทศ. และ สพฐ. โดยได้สอบถามเลขาฯ กพฐ. ว่าตกลงแล้วนักเรียนมัธยมปลายเปิดเทอมวันไหน ซึ่งตารางสอบ TCAS ปีนี้ ก็เลื่อนตามตารางเปิดเทอมแล้ว ปกติการสอบของ สทศ. จะเริ่มปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้เราเปลี่ยนมาเป็นปลายเดือนมีนาคมแทน เราขยับไปแล้วรอบหนึ่ง

หากเลื่อนสอบเด็ก ม.6 ออกไปอีก เด็ก ป.6 จะขึ้น ม.1 ก็ใช้คะแนน O-NET เด็ก ม.3 จะเข้า ม.4 ก็ใช้คะแนน O-NET ถ้าเลื่อนสอบ ม.6 ทุกชั้นก็เลื่อนหมด เหตุผลหนึ่งก็เป็นปัญหาลูกโซ่กับเหตุผลอื่น แล้วพอ สทศ. เลื่อนสอบ ก็จะไปเลื่อนสอบ กสพท เวลาเลื่อนมันเลื่อนทั้งยวงกระทบหมดเลย

Q : มีนักเรียนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าการสอบ TCAS ปีนี้ไม่แฟร์ เพราะ COVID-19  ทำให้นักเรียนแต่ละพื้นที่เรียนรู้ไม่เท่ากัน การไม่เลื่อนสอบถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา

A : ต้องเลื่อนสอบนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าแฟร์ ถ้าเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น มันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลื่อนสอบ มันอยู่ที่การปรับระบบโรงเรียน ถามว่าระบบโรงเรียนทำไมไม่มีความพร้อม โรงเรียนก็ต้องปรับสภาพการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทยุคใหม่ แล้วการเลื่อนสอบไม่ใช่การแก้ความเหลื่อมล้ำแน่นอน

อีกทั้ง การศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ แต่เป็นภาพความพร้อมที่ทุกคนต้องเลือกและเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เหมือนเรียนในมหาวิทยาลัยถ้าสอนในห้องเรียนไม่ได้ ก็ต้องปรับออนไลน์ ทุกคนต้องปรับตัวหมดเพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยน 

Q : มีคำถามเข้ามาเยอะ เรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่เท่ากัน ไม่เสมอภาคกัน ช่วงที่มีการระบาด COVID-19  การเรียนการสอนในหลายพื้นที่เปลี่ยนไป อยากขอให้ผู้ใหญ่เข้าใจปัญหานี้เพื่อให้เวลาเตรียมตัวเพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมานักเรียนไม่ได้เป็นคนละเลยในการเตรียมตัว แต่อุปกรณ์และสถานการณ์เฉพาะหน้าบีบบังคับให้ไม่สามารถทำได้จริง ๆ

A : สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งประเทศ การเรียนออนไลน์ก็เรียนกันทั้งประเทศ ทุกคนเจอเหมือนกันหมด ทีนี้คนที่มีอุปกรณ์ไม่พร้อม ปัจจัยการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน มันคือความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการศึกษา การเลื่อนสอบออกไปก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้

Q : เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการ รมว.ศธ. มาร่วม ActiveTalk มีการฟังข้อมูลจากตัวแทนนักเรียนและนักการศึกษา มีข้อเสนอว่าเวลาที่เหมาะสมในการเลื่อนสอบอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ถ้าพิจารณาข้อเสนอนี้จะกระทบส่วนอื่น ๆ แค่ไหน

A :  รวนหมดเลย เพราะการสอบต่าง ๆ ที่เป็นการทดสอบระดับชาติ สทศ. เป็นคนดูแล ไม่ได้มีเฉพาะ TCAS ที่กระบวนการจะเสร็จสิ้น 15 มิ.ย. 2564 มหาวิทยาลัยเกินครึ่งเปิดเทอมเดือน มิ.ย. ถ้าเลื่อนสอบ TCAS 1 เดือน กระบวนการสุดท้ายก็จะขยับไปอีก 1 เดือน ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดเทอมได้ในเดือน มิ.ย. จะกระทบกับกิจกรรมทุกชั้นปี แล้วบางมหาวิทยาลัยมีนักศึกษากู้ กยศ. ร้อยละ 80-90 ครอบครัวก็เดือดร้อนเพราะต้องการให้เด็กเรียนจบเพื่อมาช่วยเหลือ

Q : สุดท้าย ถ้าการจัดสอบ TCAS ทำให้มีคนติด COVID-19 จะรับผิดชอบอย่างไร

A : วันนี้เราเสนอมาตรการที่ใช้ในการจัดสอบให้ ศบค. ชุดใหญ่ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สทศ. นำเสนอมาตรการต่าง ๆ ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้ว รัฐมนตรีฯ ก็สั่งการไปที่ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดที่เป็นสนามสอบ ให้ดูแลการจัดสอบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการติดต่อของโรคเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลของแต่ละคนด้วย ถ้าน้อง ๆ ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ล้างมือ ไม่ทำความสะอาด ไม่ป้องกันตัวเอง มาตรการต่าง ๆ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะต้องเริ่มจากตัวเราเอง ในสนามสอบมี Social distancing มีการวัดอุณหภูมิ ให้ใส่หน้ากากอนามัย มีการฆ่าเชื้อต่าง ๆ และไม่ให้มั่วสุมกัน ดังนั้นก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดย สทศ.  เคยดำเนินการจัดสอบในสถานการณ์ COVID-19 มาแล้ว

ศบค. แถลงมาตรการในการจัดการสอบรายวิชาต่าง ๆ ของ สทศ. เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม