เมืองแม่ฮ่องสอน ยังมีฝุ่นหนักสุด ขณะ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จมอยู่ในค่าฝุ่นระดับสีแดงต่อเนื่อง 12 วัน แล้ว
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (11 มี.ค. 2564) ผ่านระบบ VDO CONFERENCE ร่วมกับคณะผู้บริหาร ทส. ส่วนราชการในสังกัด ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากคุณภาพอากาศของพื้นที่ภาคเหนือ อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่
โดยกำชับหน่วยงานในพื้นที่ให้เร่งแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน กำหนดกรอบการทำงานให้มีความเข้มข้นขึ้น นำแผนการดำเนินงานที่มีอยู่มาซักซ้อมและวิเคราะห์จุดอ่อน ทั้งการตั้งศูนย์ส่วนหน้าซึ่งจะลงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
มีการตั้งสถานีดับไฟป่าชั่วคราวในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน ตาก และแม่ฮ่อนสอน ซึ่งเป็นจุดที่เกิดสถานการณ์ไฟป่าค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับผู้นำท้องถิ่นเพื่อให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพิ่มความเข้มข้นในเรื่องการสร้างการรับรู้ และการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดกับผู้ที่เข้าไปเผาป่า
ในด้านสรรพกำลังได้รับความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ในส่วนของอุปกรณ์เครื่องมือได้รับความร่วมมือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีเฮลิคอปเตอร์มาร่วมดับไฟป่า ขณะเดียวกันก็ได้มีการสำรวจเครื่องมือระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อที่จะได้มีการสนธิกำลังคนไปทำงาน และยังได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษได้หารือและเฝ้าระวังเรื่องหมอกควันข้ามแดน สำหรับโครงการชิงเก็บได้ดำเนินการทะลุเป้าหมายทุกจังหวัด แต่ยังมีจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่
ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือวันนี้ (12 มี.ค. 2564) ยังคงรุนแรง โดยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของ กรมควบคุมมลพิษ รายงานเมื่อเวลา 09.00 น. พบค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานมากถึง 19 จากทั้งหมด 25 สถานีตรวจวัด โดยพื้นที่ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ยังหนักสุดวัดได้ 199 มคก./ลบ.ม. รองลงมาก็ยังคงเป็นพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย วัดได้ 160 มคก./ลบ.ม. ซึ่งทำให้พื้นที่นี้ตกอยู่ในระดับสีแดงหรือระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องเป็นวันที่สิบสองแล้ว
ขณะที่เพจ Smoke Watch รายงานสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จากภาพถ่ายดาวเทียมในระบบ VIIRS ประจำวันที่่ 11 มี.ค. 2564 พบจุดความร้อนมากที่สุดสามลำดับแรกได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน 95 จุด รองลงมาคือ จ.เชียงใหม่ 41 จุด และ จ.ลำปาง 14 จุด
ส่วนสถานการณ์จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าประเทศที่พบจุดความร้อนมากที่สุดสามลำดับแรกได้แก่ เมียนมา 2,892 จุด ตามมาด้วยกัมพูชา 2,520 จุด และลาว 2,019