ย้ำ เป็นโอกาสแก้ไขระเบียบสภา กทม. เพิ่มงบฯ อุดหนุนให้เดินต่อได้ในอนาคต
12 มี.ค. 2564 – ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. หนึ่งในนั้นคือประเด็น ที่มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำหน้าที่บริหารมากว่า 10 ปี กำลังจะหมดสัญญาลง ในเดือนสิงหาคม 2564 ระบุว่า กทม. มีแนวทางในการสนับสนุนพื้นที่ทางศิลปะอยู่แล้ว และไม่เคยมีแนวคิดเข้าไปบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ แทนมูลนิธิฯ ทั้งหมดเป็นไปตามวาระ โดยหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการต่อสัญญา กระบวนการที่หนึ่งคือเรื่องกฏหมาย และกระบวนการที่สองเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ที่กำลังจะหมดวาระในเดือน พ.ค. 2564 เมื่อสรรหาหาชุดใหม่ได้แล้วจึงน่าจะมีความชัดเจนว่าจะต่อสัญญาในรูปแบบใด ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วง มิ.ย.-ก.ค. 2564
ขณะที่ปัญหาเงินสนับสนุนที่ กทม. ไม่มอบให้หอศิลปกรุงเทพฯ มานาน 4 ปี เปลี่ยนเป็นช่วยเหลือเพียงค่าสาธารณูปโภค ราวปีละ 8 ล้านบาท กระทบต่อการบริหารจัดการมาโดยตลอด เป็นที่มาของการจัดกิจกรรมระดมทุนทุกปี โฆษก กทม. เห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะนำประเด็นเรื่องงบฯ อุดหนุน มาบรรจุไว้ในการต่อต่อสัญญา เพื่อให้หอศิลปกรุงเทพฯ สามารถเดินต่อได้ในอนาคต
สามปีที่ผ่านมา กทม. เราได้พยายามของบประมาณที่จะอุดหนุนทุกครั้ง แล้วก็โดนสภา กทม. พิจารณาไม่ให้ผ่านเพราะว่าเป็นในเรื่องของข้อบัญญัติที่ได้ออกไป เราพยายามแก้ไขว่าหอศิลปกรุงเทพฯ ต้องเดินต่อ แต่จะเป็นลักษณะใดที่ทำให้เราจ่ายได้มากกว่าระบบสาธารณูปโภค เราอยากให้อยู่ในกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย ไหน ๆ เราจะต้องต่อสัญญาก็อยากทำให้มันถูกต้องในอนาคตด้วย
ก่อนหน้านี้ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการ และกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระบุกับ The Active ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องขอต่อสัญญากับทาง กทม. ออกไปอีก 10 ปี พร้อมสะท้อนว่า ควรมีนโยบายจ่ายงบประมาณอุดหนุน ในรูปแบบคล้ายกับ โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ในสังกัดของ กทม. และเห็นด้วยหากจะมีคนของ กทม. เข้ามาอยู่ในบอร์ดบริหาร เพื่อความโปร่งใส คล่องตัวในการจัดกิจกรรม แต่ไม่ใช่การควบคุมหรือเซนเซอร์ ศิลปิน ผลงาน ที่สำคัญ คือ ต้องมาวางนโยบายร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อให้ไม่ว่ารัฐบาล หรือผู้บริหารชุดไหนจะเข้ามาบริหาร จะต้องยึดตามนโยบายนี้