หลัง ทนายอานนท์ ร้องในเรือนจำไม่ปลอดภัย ระบุ การกล่าวอ้างต้องมีหลักฐาน สั่งตรวจวงจรปิด หลายกลุ่มนัดชุมนุมด่วน จี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องชี้แจง
16 มี.ค. 2564 – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ อานนท์ นำภา ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อช่วงเช้า เรื่องความไม่ปลอดภัยในเรือนจำ หลังมีเจ้าหน้าที่พยายามพาตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และภาณุพงศ์ จาดนอก ออกไปนอกแดนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพกลางดึกวานนี้ (15 มี.ค.)
โดยนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการรายงาน แต่ก็ต้องคุ้มครองผู้ต้องหาตามหลักการของกฎหมายอยู่แล้ว ได้บอกแล้วว่าให้คุ้มครองอย่างที่สุด และการกล่าวอ้างก็ต้องมีหลักฐานชัดเจน ได้ให้ไปดูกล้องวงจรปิดว่าใครไปทำอะไรหรือเปล่า หรือเขาทำตัวเองหรือเปล่า
ด้าน กฤษฎาง นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า อานนท์ ได้เขียนคำร้องดังกล่าวที่ศาลอาญาภายหลังที่ถูกเบิกตัวมาเพื่อขึ้นเบิกความในคดีการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ส่วนรายละเอียดที่ไม่ได้อยู่ในจดหมาย คือ ในช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์
โดยเดิมทีในห้องคุมขังมีผู้ต้องหาในคดีอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย แต่กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้คุมตัวผู้ต้องหาคดีอื่นออกจากห้องคุมขังไป เหลือเพียงผู้ต้องหาในคดีชุมนุมปักหมุดคณะราษฎร รวม 7 คน เจ้าหน้าที่พยายามแจ้งว่าจะต้องคุมตัวออกนอกแดนเพื่อไปตรวจโควิด-19 แต่กลุ่มจำเลยยืนยันว่า ไม่ไป หลังพยายามอยู่ 4 ครั้ง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ล้มเลิกไป ซึ่ง อานนท์ คาดว่า เพราะในห้องคุมขังมีกล้องวงจรปิด
ทนายความ ระบุด้วยว่า อานนท์ ได้แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับศาล พร้อมกับยื่นร้องขอให้ศาลไต่สวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกดูพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีทั้ง 7 คน เพราะเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นอันตรายต่อชีวิต อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัยระเบียบของการเบิกตัวเพื่อตรวจโรคตามที่กล่าวอ้าง และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีกด้วย
ส่วนการยื่นประกันตัวชั่วคราวจำเลยในวันนี้ ได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปิยรัฐ จงเทพ, ปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อเช้าที่ผ่านมา ซึ่งศาลจะไต่สวนคำร้องในช่วงบ่ายวันนี้
ส่วนการร้องทุกข์เอาผิดกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุ ตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ เพราะในขณะนี้ทุกคนต้องการมุ่งไปที่การขอประกันตัวชั่วคราวเพื่อขอให้ศาลเมตตา เพราะทุกคนเกรงว่า หากยังถูกคุมขังในเรือนจำต่อไปจะอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต
ขณะที่หลายกลุ่มเคลื่อนไหว ทั้งกลุ่มเดินทะลุฟ้า และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นัดชุมนุมด่วนเวลา 14.00 น. หน้ากรมราชทัณฑ์ เพื่อกดดันให้อธิบดีชี้แจงเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้น
กรมราชทัณฑ์ แจง เป็นขั้นตอนปฏิบัติตามมาตรการโควิด-19
ด้าน กรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์ ระบุว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. 2564 ถึงเช้าวันที่ 16 มี.ค. 2564 ภายหลังจากที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับย้ายตัว ภาณุพงศ์ จาดนอก, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ปิยรัฐ จงเทพ มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจร่างกาย ก่อนนำตัวมาคุมขังพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นอีก 9 รายในห้องควบคุมผู้ต้องขังภายในแดนแรกรับ เพื่อแยกกักโรคตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์
ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น. วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้ามาดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ราย
แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 ราย และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 ราย คือ ภาณุพงศ์ จาดนอก, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ปิยรัฐ จงเทพ, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวรวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ เพื่อเป็นการแยกกักกันโรคและสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์และกระทรวง สาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนดังกล่าว คือ อานนท์ฯ พร้อมพวก ได้ปฏิเสธการย้ายที่คุมขังออกจากห้องกักกันโรคเดิมไปยังสถานพยาบาลโดยอ้างถึงความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องแยกกลุ่มผู้ต้องขังอีกกลุ่มที่ให้ความยินยอมในการตรวจหาเชื้อจำนวน 9 รายไปคุมขังที่ห้องกักกันโรคห้องอื่นแทน
โดยการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำ ตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และแยกกักตัวผู้ต้องขัง เข้าใหม่ และรับย้ายทุกรายออกจากผู้ต้องขังอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
โดยขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ กรมราชทัณฑ์ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดตามกฎ ระเบียบ และพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถกระทำการใดโดยพลการได้ อีกทั้ง การทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว