นัดไต่สวนฉุกเฉินเย็นนี้ ปม “dek64” ร้องศาลปกครอง ขอ “เลื่อนสอบ TCAS”

โฆษกเพื่อไทยพร้อมทีมทนาย ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานร่วมกับนักเรียน กรณี “ไม่เลื่อนสอบ” เหตุ กระทบเตรียมพร้อมของเด็ก และการระบาดของโควิด-19

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 กลุ่มนักเรียน 6 คน ที่แทนตัวเองว่า “dek64” เข้าร้องศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน กรณีการออกประกาศการจัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือ TCAS ปีการศึกษา 2564 ตามกำหนดการเดิม ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กับองค์กรด้านการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมของเด็ก และการระบาดของโควิด-19

ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ หนึ่งในนักเรียนที่เป็นโจทก์ร่วม กล่าวว่า ตารางสอบนักเรียน ม.6 ที่สอบติดกันกว่า 30 วิชา ใน 22 วัน หลังสถานการณ์โควิด-19 นำมาสู่ความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม หาก ทปอ. กับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะดำเนินการจัดสอบ TCAS ตามกำหนดเดิม คือ เริ่มสอบ GAT-PAT วันที่ 20-23 มี.ค., สอบ O-NET วันที่ 27 และ 29 มี.ค., สอบวิชาสามัญ 3-4 เม.ย. และสอบวิชาเฉพาะของบางสาขา วันที่ 6-10 เม.ย.

โดยได้รับข้อมูลนักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีการศึกษา 2564 อย่างน้อย 150 โรงเรียน สอบปลายภาคตรงกับวันสอบ TCAS และการไม่เลื่อนสอบ ส่งผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมที่เด็กต้องแบกรับเนื้อหาการเรียนอย่างหนักและเยอะกว่าปกติ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่การระบาดของโควิด-19

“เราเคยเสนอตารางสอบใหม่ที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มนักเรียน เพื่อขอให้ ทปอ. เลื่อนสอบ GAT-PAT และวิชาสามัญออกไปตามกำหนดเดิม 2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้กระทบกับองค์กรอื่น ๆ แล้ว ปีที่ผ่านมาก็มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่ว่าชั้นปีอื่น ๆ ก็เปิดเรียนได้ตามปกติ แล้วนักศึกษาแพทย์ก็สามารถเรียนจบออกไปใช้ทุนได้ตามปกติ”

ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ (ซ้าย)

ตัวแทนนักเรียน ระบุอีกว่า การมาศาลปกครองในวันนี้ ได้นำรายชื่อ “dek64”  ที่สนับสนุนการเลื่อนสอบ TCAS บนเว็บไซต์นักเรียนเลวซึ่งรวบรวมได้มากกว่า 9,300 คน มายื่นคำร้องขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อยุติการจัดสอบ TCAS ชั่วคราว จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกัน และจะเขียนคำฟ้อง 5 องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ องค์การมหาชน (สทศ.) และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่มีมติไม่เลื่อนสอบ ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพไม่เท่าเทียมกัน

พรรคเพื่อไทย ส่งตัวแทนฟ้องคดีร่วมกับนักเรียน

ผศ.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย มี นพคุณ รัฐผไท เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการหารือในคณะกรรมาธิการฯ เบื้องต้น เพื่อขอให้มีการเลื่อนสอบ TCAS ปี 2564 จากเรื่องผลกระทบที่ “dek64” ได้รับจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก

หากดูจากตารางสอบของนักเรียน ม.6 พบว่า มีการจัดสอบติดต่อกันมากกว่า 30 วิชา ในช่วงเวลา 22 วัน ในระหว่างนั้นยังมีการสอบโควต้าเข้าสาขาวิชาแพทย์ชนบท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับภูมิภาคอย่างภาคอีสานยังมีการสอบสมรรถนะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นเดือนเมษายนยังมีการสอบวิชาเฉพาะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

ในระหว่างนั้น โรงเรียนบางแห่งยังมีการจัดสอบปลายภาคด้วย แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรด้านการจัดสอบ มีข้อชี้แจงมาว่าไม่สามารถเลื่อนสอบได้เนื่องจากกระบวนการสอบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ดังนั้น นักเรียนหลาย ๆ คน เลยต้องการขอความเป็นธรรม 

“ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์และคลุกคลีกับนักเรียนนักศึกษามาก่อน คิดว่าอย่างแรก คือ กลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบมีแน่นอน การคุ้มครองชั่วคราวกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบน่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ เลยหารือกับทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เพื่อยกร่างคำฟ้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวกับเด็กที่ได้รับผลกระทบ อีกเรื่องหนึ่งคือโครงสร้างของระบบ เรามองว่าเป็นปัญหาของระบบการศึกษา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เยียวยา และละเลยมาโดยตลอด เราจึงเขียนคำฟ้องในภาพรวมต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย 5 หน่วยงาน”

ด้าน วัฒนา เตียงกูล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุถึงแนวทางในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในวันนี้ว่า มี 2 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน ประเด็นแรก คือ การจัดระบบกลางในการคัดเลือกบุคคล หรือ TCAS  พบหลักการสำคัญที่ ทปอ. ประกาศไว้ชัดเจน คือเด็กจะต้องจบชั้น ม.6 ก่อน ซึ่งเขียนไว้ในคู่มือ TCAS ปีการศึกษา 2564 ชัดเจน และกำหนดไว้ว่า วันสอบ TCAS จะต้องอยู่วันหลังจากวันที่เด็กจบการศึกษามาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ 

“ผมเข้าใจว่าผู้กำหนดระเบียบการ ไม่ได้คำนึงว่าจะมีโควิด-19 ระลอกใหม่ พอโควิด-19 มาต้นปีก็มีผลกระทบให้ปิดโรงเรียน แล้วก็เลื่อนสอบออกไป ทำให้วันสอบโรงเรียนตรงกับวันสอบ TCAS ที่กำหนดไว้เดิม ซึ่งในข้อเท็จจริงก็น่าเห็นใจเด็ก และก็มีเหตุผลคือพวกเขาจะต้องสอบติดต่อกันหลายวันกว่า 20 วิชา มันเป็นภาระกับเด็กมาก”

อีกหนึ่งประเด็น คือ เหตุผลที่ระบุว่าไม่สามารถเลื่อนสอบได้ เพราะจะไปกระทบต่อระบบบริการจัดการ ทนายวัฒนา กล่าวว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะปัจจุบันสามารถใช้แอปพลิเคชันช่วยได้ เด็กไม่ต้องไปยื่นเรื่องถึงหน่วยงานด้วยตัวเอง เหมือนที่รัฐบาลทำโครงการให้ลงทะเบียนได้ 6-7 ล้านคน/วัน แต่จำนวนเด็กที่จะเข้าสอบ TCAS มีประมาณ 3 แสนกว่าคน น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งสถานที่สอบและอื่น ๆ

“ข้ออ้างที่ว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่อการเปิดเรียนของมหาวิทยาลัย ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ยึดตามหลักเกณฑ์ของ ทปอ. ที่กำหนดไว้ แล้วก็มีเวลาอยู่เป็นเดือน ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะเปิดเทอมสิงหาคม บางมหาวิทยาลัยเปิดมิถุนายน ถ้าเลื่อนสอบไป 2 สัปดาห์ ผมว่าไม่กระทบหรอกครับ แล้วที่ผ่านมาก็มีการเลื่อนเปิดเทอมของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 อยู่แล้ว โดยเปิดเรียนชั้นปีที่ 2-4 ไปก่อน ดังนั้น ผมมาดูข้อมูลแล้วก็เห็นว่า มันเป็นเรื่องผิดหลักการของ TCAS เราต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเด็กเป็นหลัก”

ทั้งนี้ ภายหลังตรวจสอบเอกสารคำร้องเป็นที่เรียบร้อย ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนฉุกเฉินนักเรียนทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้อง เพื่อให้ชี้แจงถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามคำร้องที่ยื่นต่อศาล ในช่วงเย็นถึงค่ำของวันนี้ (17 มี.ค.)

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม