ชวนออกแบบ “หัวลำโพง” รองรับการใช้ประโยชน์ สอดรับการพัฒนาเมือง

โครงการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์ฯ หัวลำโพง ชวนร่วมร่าง แผนพัฒนาหัวลำโพงในฝัน ให้เป็นมากกว่าสถานีเดินรถและพิพิธภัณฑ์ ชิงรางวัลรวมกว่า 1 แสนบาท

22 มี.ค. 2564 – ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) แถลงการประกวดแนวคิด “Re-Imagining Hua Lamphong: The New People’s Space” โครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบการวิจัย และนำเสนอให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสร้างประโยชน์ทางสังคมที่หลากหลาย

แนวคิดการประกวด คือ การรักษาคุณค่าของพื้นที่ดั้งเดิม พร้อม ๆ กับการปรับปรุงอย่างร่วมสมัย เนื่องจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะท้อนโฉมหน้าแห่งยุคสมัยของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 สถานีรถไฟกรุงเทพ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมระบบรางของประเทศ จวบจนปี พ.ศ. 2554 นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มวางแนวนโยบายในการขยับขยายกิจการในภาพรวม เพิ่มการบริการในเส้นทางการเดินรถสายต่าง ๆ มีการพัฒนาระบบรางและเทคโนโลยีให้ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและประชาชนทั่วไป จึงเป็นเหตุให้มีแผนการโยกย้ายศูนย์กลางการบริการแห่งนี้ ไปยังสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ อันส่งผลให้บทบาทและความเป็นศูนย์กลางของสถานีรถไฟกรุงเทพ ลดลงไป

กฤษณะพล วัฒนวันยู ประธานกรรมการที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง USL ระบุว่า โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในปีที่ผ่านมาทำให้ได้มโนทัศน์หัวลำโพงที่มาจากการระดมความคิดเห็นหลายภาคส่วน เช่น การออกแบบให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ มีพิพิธภัณฑ์รถไฟ แหล่งเรียนรู้ด้านวิศวกรรมรถไฟ การมีพื้นที่สีเขียวสำหรับผ่อนคลายและนันทนาการ และการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ซึ่งการวิจัยยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้มีเป้าหมายในการให้ประชาชนร่วมส่งแบบในการประกวด รวมถึงวางแผนด้านกลไกการบริหารจัดการภายใน และการคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่

อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดและวางแผนการพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพเพื่อต่อยอดจากงานวิจัย โดยแนวคิดที่มีการนำเสนอจากประชาชน และข้อเสนอที่มีประโยชน์ จะได้รับการคัดเลือก ซึ่งหากมีโอกาสก็อาจจะได้นำมาเป็นแบบแผนในการปรับปรุงพื้นที่จริง

สำหรับโครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เปิดรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนที่สนใจ ร่วมส่งผลงานแสดงแนวความคิด ในการนำเสนอการใช้งานและกิจกรรมในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) พร้อมกับการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ตัวอาคารสถานีและพื้นที่โดยรอบสามารถปรับตัวและตอบสนอง เอื้อประโยชน์ต่อความต้องการและกิจกรรมเพื่อสังคมเมืองในอนาคตอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสานต่อคุณประโยชน์ของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้สามารถพัฒนาและมีบทบาท หน้าที่ใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคตได้ รวมรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.reimagininghualamphong.info


Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้