เผย มีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 คน ตามแผนที่วางไว้ ส่วนล็อตใหม่ 8 แสนโดส กระจายให้ 3 พื้นที่ 22 จังหวัด เหลือสำรองให้จังหวัดที่มีการระบาด
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 23 มี.ค. 2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 102,050 โดส แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 96,188 คน และรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 คน ทั้งนี้ ผู้ที่รับวัคซีนเข็มแรกแล้วขอให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัด เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ หากประมาทและการ์ดตก ดังนั้น ผู้ที่รับวัคซีนแล้วขอให้คงการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ลดความแออัด และล้างมือบ่อย ๆ
“ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนจะได้เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ที่มีรายละเอียดของบุคคล วันที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 รายชื่อผู้ที่รับรองการฉีดวัคซีน โดยจะมีคิวอาร์โคดสแกนเพื่อแสดงข้อมูลทางดิจิทัลได้ด้วย นอกจากนี้ ยังให้ใบรับรองดิจิทัลผ่านไลน์หมอพร้อมด้วย กรณีเดินทางระหว่างประเทศก็สามารถใช้เป็นเอกสารเริ่มต้นในการทำเอกสารรับรองการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนสมุดเล่มเหลืองหรือวัคซีนพาสปอร์ตต้องรอการตกลงร่วมกันกับประเทศปลายทางหรือตกลงร่วมกันในหลายประเทศผ่านองค์การอนามัยโลกหรือสมาคมขนส่งทางอากาศ”
ส่วนวัคซีนโควิด-19 ล็อตใหม่ที่ได้รับล่าสุดจำนวน 8 แสนโดส อยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต จากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะส่งมอบให้แก่กรมควบคุมโรค เพื่อจัดสรรและกระจายไปยังพื้นที่เป้าหมายต่อไป โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ได้เห็นชอบแผนการจัดสรรและการกระจายวัคซีนใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ควบคุมการระบาด 6 จังหวัด, พื้นที่ท่องเที่ยว 8 จังหวัด และพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด รวม 22 จังหวัด จำนวน 5.9 แสนโดส ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นครั้งแรกขอให้เน้นการฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ รวมทั้งประชาชนกลุ่มเสี่ยงเป็นลำดับแรก
ส่วนวัคซีนที่เหลืออีก 2.1 แสนโดส จะให้กับบุคลากรสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่กลุ่มอื่น ๆ ที่จำเป็นในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 22 จังหวัดนี้ เนื่องจากมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน หรือเป็นจังหวัดที่ไม่มีการระบาด แต่รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากจังหวัดที่มีการระบาด หรือรักษาผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น เช่น ศรีสะเกษและมุกดาหาร ที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากจังหวัดที่พบการระบาดกลับภูมิลำเนา แพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษา ก็มีโอกาสเสี่ยงได้ จึงได้รับการจัดสรรวัคซีนด้วย รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นในการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักการทูตไทยที่เดินทางไปประจำการในต่างประเทศ นักกีฬาทีมชาติไทยที่จะไปแข่งในต่างประเทศ หรือ กลุ่มอื่น ๆ ที่มีภารกิจเดินทางระหว่างประเทศและปลายทางกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ ยังเตรียมไว้สำหรับการควบคุมการระบาดในจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจาก 22 จังหวัด จะได้มีวัคซีนใช้ในการควบคุมจำกัดการแพร่ระบาด
คนกรุงฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วรวม 31,045 คน
วันเดียวกัน ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยวันที่ 23 มี.ค. 2564 ให้บริการฉีดวัคซีนรวม 7,813 คน รวมยอดสะสมผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1-23 มี.ค. รวมทั้งสิ้น 31,045 คน ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตบางแค เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ และเขตหนองแขม รวมทั้งบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลนอกพื้นที่เสี่ยง 6 เขตข้างต้น กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขด่านหน้าอื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มที่ 3 ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคในพื้นที่เสี่ยง 6 เขต ที่มีอายุ 18 – 59 ปี 10 เดือน และกลุ่มที่ 4 ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยง 6 เขต รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงย่านตลาดบางแค ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา (บ้านบางแค 1 และบ้านบางแค 2) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ไปให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตราเซเนกา ที่ได้รับการจัดสรรพิเศษสำหรับผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราทั้ง 2 แห่งนี้
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตข้างต้น ที่มีความประสงค์จะรับการฉีดวัคซีน สมัครและเลือกโรงพยาบาลที่จะขอรับการฉีดวัคซีนที่ปรากฏในระบบ เลือกวัน เวลา ที่โรงพยาบาลได้เปิดให้มีการจองสิทธิ์ สำหรับประชาชนไม่มีโทรศัพท์ smart phone สามารถใช้ smart phone หรืออุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันของบุคคลในครอบครัว หรือขอความช่วยเหลือการลงทะเบียนที่สถานพยาบาลในพื้นที่ 6 เขตข้างต้น รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 16 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ 7 แห่ง ดังนี้
1. โรงพยาบาลบางขุนเทียน 1 2. โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล 3. โรงพยาบาลบางมด 4. โรงพยาบาลพีเอ็มจี 5. โรงพยาบาลนครธน 6. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 7. โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค 8. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 9. โรงพยาบาลบุญญาเวช 10. โรงพยาบาลบางปะกอก 8 11. โรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ 12. โรงพยาบาลบางไผ่ 13. โรงพยาบาลมิตรประชา (เพชรเกษม 2) 14. โรงพยาบาลพญาไท 3 15. โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม 16. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ 17. ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 18. ศูนย์บริการสาธารณสุข 40 19. ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 20. ศูนย์บริการสาธารณสุข 47 21. ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 22. ศูนย์บริการสาธารณสุข 62 และ 23. ศูนย์บริการสาธารณสุข 65
สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (D-M-H-T-T) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เมื่อเข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อันเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนต่อไป