โควิด-19 แพร่หนัก! สธ. แจง​ 3​ เคส เรือนจำนราธิวาส-คลัสเตอร์ใหม่สถานบันเทิง-ทูตญี่ปุ่นติดเชื้อ

เผย เรือนจำ จ.นราธิวาส ติดโควิด 100 กว่าคน แต่เป็นสถานที่ปิด ไม่แพร่กระจายสู่ชุมชน ส่วนกรณีสถานบันเทิงใน กทม. ปริมณฑล พบติดกันเป็นลูกโซ่ จากปทุมธานี ทองหล่อ และเอกมัย ยัน ไม่มีรัฐมนตรีร่วมงานเลี้ยงทูตญี่ปุ่น

เมื่อวันที่​ 4​ เม.ย.​ 2564​ ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 96 คน มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 78 คน ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 9 คน และเดินทางมาจากต่างประเทศ 9 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และรักษาหายเพิ่มขึ้น 106 คน ทำให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 4 เมษายน 2564 มีผู้รักษาหายแล้ว 23,597 คน คิดเป็นร้อยละ 94.81 อยู่ระหว่างการรักษา 1,258 คน และเสียชีวิตสะสม 35 คน

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 3 เม.ย. 2564 ฉีดแล้ว 244,254 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 201,864 คน และครบสองเข็ม 42,390 คน ถือว่าฉีดได้ตามเป้าหมาย ไม่ได้ล่าช้า เนื่องจากช่วงแรกได้วัคซีนมา 2 แสนโดส ฉีดคนละ 2 เข็ม จึงฉีดได้ 1 แสนคน และเมื่อมีวัคซีนจำนวนมาก ตั้งแต่มิถุนายนที่จะมีวัคซีนจากแอสตราเซเนกาเดือนละ 10 ล้านโดส จะสามารถฉีดได้ครบถ้วนแน่นอน เช่น ชลบุรี ฉีดได้ถึง 1 หมื่นโดสในวันเดียว โดยประชาชนสามารถเริ่มจองฉีดวัคซีนได้ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 และจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. สำรวจกลุ่มเป้าหมายที่สมัครใจฉีดวัคซีน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยด้วย

สำหรับสถานการณ์ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลไม่มีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจหาเชื้อในผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และฝ่ายความมั่นคงที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 2,000 โดส แก่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองที่ดูแลผู้ลี้ภัย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนไทย

ยันเอาอยู่​ นักโทษติดโควิด-19 ในเรือนจำนราธิวาส​ไม่แพร่สู่ชุมชน

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในเรือนจำ จ.นราธิวาส มีการส่งรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทานลงไปในพื้นที่เช่นกัน จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า เริ่มจากเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตรวจพบติดเชื้อ 1 คน จึงสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยตรวจผู้ต้องขังประมาณ 700 กว่าคน พบผู้ติดเชื้อ 100 กว่าคน สถานการณ์ถือว่าคล้ายกับสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด มีการอยู่อย่างแออัด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง ไม่มีความเสี่ยงแพร่กระจายไปยังชุมชน สำหรับจุดเริ่มต้นในการติดเชื้อต้องรอผลสอบสวนอย่างละเอียด เบื้องต้นเรือนจำดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้ดี อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำเรื่องการกักตัวผู้ต้องขังแรกรับ 14 วันอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังโดยตรวจหาเชื้อเจ้าหน้าที่เป็นระยะ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่

“กรณีที่มีผู้ต้องขังกลุ่มนี้เดินทางไปร่วมประชุมและกิจกรรมที่ จ.สุราษฎร์ธานี และตรวจพบว่าติดเชื้อ​ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1 พันคน จัดงานเพียง 1 วัน ผู้ต้องขังไม่ได้ปะปนกับคนหมู่มาก ได้สอบสวนและควบคุมโรค ติดตามผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงได้แล้วทั้งหมด โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้รับการแยกกัก และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอยู่ในระบบเฝ้าระวัง”

คลัสเตอร์​ใหม่สถานบันเทิง​ เหตุผู้ติดเชื้อไปหลายร้าน​ ยอดติดเชื้อพุ่ง​ 70 คน​

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สถานการณ์การติดเชื้อในสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ติดเชื้อ 70 คน พบว่ากลุ่มที่ติดเชื้อมีความเชื่อมโยงกัน จากการสอบสวนโรคคาดว่า เริ่มต้นจากสถานบันเทิง จ.ปทุมธานี ไปยังคริสตัล คลับ ทองหล่อ, ร้านบลาบลาบาร์ และเบียร์เฮาส์ เอกมัย เป็นลูกโซ่ เนื่องจากนักเที่ยวนำเชื้อมาติดพนักงานและติดไปยังนักเที่ยวคนอื่น ซึ่งนักเที่ยว นักร้อง และนักดนตรี มักไปหลายร้าน ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปร้านอื่นต่อ และนำไปติดคนในครอบครัว ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อมากมาจากสถานที่เสี่ยง คือ ความแออัด การระบายอากาศไม่ดี ไม่มีการเว้นระยะห่าง และพฤติกรรมเสี่ยง คือ ไม่สวมหน้ากาก ตะโกนเสียงดัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดสติ อาจใช้แก้วร่วมกัน เป็นต้น

แม้ในระยะผ่อนคลายจะเปิดสถานบันเทิงได้ แต่ต้องเป็นนิวนอร์มัล โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ สแกนไทยชนะเข้าออกสถานที่ พนักงานต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ผู้มารับบริการต้องใส่หน้ากากให้มากที่สุด​ ทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆ ตรวจหาเชื้อพนักงาน นักร้อง นักดนตรีสม่ำเสมอ โดยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและสาธารณสุขจะลงพื้นที่ติดตามกำกับ หากดำเนินการไม่ได้หรือมีการแพร่ระบาด จะต้องดำเนินการทางกฎหมาย โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร สามารถสั่งปิดปรับปรุงตามกำหนดได้ หรือออกมาตรการเพิ่มเติมจากที่ ศบค.กำหนด ส่วนผู้ที่ไปเที่ยวในสถานบันเทิงดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป หากมีอาการผิดปกติให้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อ หากมีความกังวลขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

ทูตญี่ปุ่นติดโควิด-19 ใน​ กทม.​ อาการทรงตัว​ ปอดไม่บวม

ส่วนกรณีทูตญี่ปุ่นติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง อาการทรงตัวดี ไม่มีอาการปอดบวม จากการสอบสวนโรคและซักถามผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า ไม่มีรัฐมนตรีท่านใดที่เข้าร่วมงานเลี้ยงที่บ้านทูตญี่ปุ่น และไม่มีรัฐมนตรีท่านใดที่ไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ รวมถึง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้เข้าร่วมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ ซึ่งอยู่ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจะเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อความสบายใจของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS