คาดรู้ผลวิจัย “วัคซีนพาสปอร์ต” เดือน พ.ค. 64 แนะกระจายวัคซีนพื้นที่ชายแดนควบคู่นโยบายวัคซีนพาสปอร์ต ชี้เว้นระยะห่างยังช่วยคุมโรค แม้ฉีดวัคซีน
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ แพทย์และนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Active ว่า หลังได้รับโจทย์จากกระทรวงสาธารณสุขให้วิจัยว่า การมีวัคซีนโควิด-19 จะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร ควรใช้อย่างไร พบว่าวัคซีนโควิด-19 คุ้มค่ามากเพราะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต แม้การป้องกันการเสียชีวิตอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยเพราะมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำมาก แต่ก็มีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจคือ ลดต้นทุนการกักตัวผู้คนที่มีความเสี่ยงมาก รวมถึงผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) ซึ่งห้ามจัดงานที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และปลดล็อกมาตรการปิดประเทศซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม วัคซีนจะช่วยป้องกันการระบาดในประเทศก็ต่อเมื่อวัคซีนสามารถป้องกันการถ่ายทอดเชื้อได้ ซึ่งปัจจุบันยังต้องรอผลการวิจัย ซึ่งในระหว่างรอนั้นไม่ได้หมายความว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ เพราะในประเทศอิสราเอลเริ่มพบข้อมูลบางส่วนที่ชี้ว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และนั่นก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการปิดประเทศ
โดย 2 มาตรการในการควบคุมโรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด คือการล็อกดาวน์ และการปิดประเทศ ที่แต่ละมาตรการกระทบ 1.5% ของ GDP แต่ถ้าจะเลิกการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศ ก็ยังคงทำไม่ได้เต็มที่ เพราะ 1. ไม่รู้ว่าวัคซีนป้องกันได้นานแค่ไหน 2. การเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ New Normal ต้องเป็นมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่องตลอด เพราะหากวัคซีนหมดประสิทธิภาพการเว้นระยะห่างก็ยังคงช่วยได้ และจะช่วยให้โรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นั้นไม่เกิดขึ้น และ 3. หากมีโรคระบาดเกิดขึ้นก็จะช่วยให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าโควิด-19 เพราะสังคมมีวิธีการรองรับแล้ว
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า หากสังคมพร้อมรับมือแล้วจะส่งผลต่อการผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศสามารถเกิดขึ้นได้ โดยพบว่าหากประเทศไทยเปิดประเทศแล้วมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้ามาในระบบไม่เกิน 100 คนต่อวัน ต่อเนื่องกัน 10 วัน เรายังสามารถหยุดได้ ประเทศไทยยังพอจะรองรับคนต่างชาติได้ ถึงตอนนี้รูปแบบการทดลองเปิดประเทศวันที่ 1 กรกฎาคมที่จังหวัดภูเก็ต หรือภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จะเป็นบทเรียนและบททดสอบอย่างดีก่อนที่จะเปิดประเทศจริงว่า การฉีดวัคซีนจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงหลังจากที่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาหรือไม่
การเปิดประเทศในรูปแบบดังกล่าวยังคงมีลักษณะที่รับชาวต่างชาติเข้ามา ไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้คนไทยสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยเพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่างกันได้ โดยขณะนี้ HITAP ซึ่งเป็นทีมวิจัยจากประเทศไทย ร่วมกับทีมวิจัยจากประเทศสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ร่วมกันวิจัยเพื่อทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในระดับภูมิภาค 7 ประเทศอาเซียนได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ลาว และอินโดนีเซีย และอีก 4 ประเทศได้แก่ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หารือเกี่ยวกับแนวทางการเดินทางข้ามพรมแดน ด้วยการใช้วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) หรือใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate)
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวกันถึงการเดินทางข้ามพรมแดน วัคซีนพาสปอร์ตไม่ควรจำกัดอยู่แต่ภาคการท่องเที่ยวหรือการเดินทางด้วยสายการบินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการเดินทางข้ามชายแดน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เดินทางไปมาหาสู่กันด้วยความเป็นชุมชนตามวิถีชีวิต และมีการค้าขายระหว่างกันด้วย ดังนั้น แผนการกระจายวัคซีนอาจต้องจัดลำดับความสำคัญให้กับพื้นที่ชายแดนด้วย
“คาดว่าผลการวิจัย วัคซีนพาสปอร์ต จะได้ข้อสรุปประมาณเดือนพฤษภาคมนี้โดยในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมามีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนภายในประเทศไทย เพื่อประกอบงานวิจัยและนำเสนอเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป”