‘นพ.สุรพงษ์’ ชี้ ระยะสั้น ต้องเปลี่ยนผู้บริหาร แก้วิกฤต ‘จาตุรนต์’ แนะใช้ “นิติรัฐ-นิติธรรม” กับการเมืองนอกสภาฯ
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยิ่งท้าทายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่กำลังเรียกร้องภายนอกสภาฯ กับข้อเรียกร้อง ขับไล่นายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังจากความผิดทางการเมือง โดยเฉพาะจากกฎหมายอาญามาตรา 112
สถานการณ์ที่เป็นวิกฤต ซ้อน วิกฤต Active Talk คุยกับ จาตุรนต์ ฉายแสง และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สองอดีตรัฐมนตรี และ “คนเดือนตุลา” ผู้มากประสบการณ์ทางการเมือง เพื่อร่วมเสนอทางเลือก ว่าการเมืองไทยควรทำอย่างไร จึงจะออกจากวงจรความขัดแย้งเรื้อรัง
วิกฤตการปกครอง ระบอบประยุทธ์
จาตุรนต์ ฉายแสง และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เห็นร่วม ระบอบประยุทธ์ คือ วิกฤตการปกครอง เพราะช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยปกครองโดยไม่มีหลักนิติรัฐ-นิติธรรม คสช. อยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการเลือกตั้ง รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ คือ ผลของการเลือกตั้งที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงทำงานไม่ตอบสนองประชาชน ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่เข้าร่วมพัฒนาประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ พวกเขามองว่าสภาพเช่นนี้ ไม่สามารถทำให้ประเทศปรับตัวตามการผันผวนของโลกได้
พร้อมย้ำ สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังชุมนุมนอกสภาฯ เป็นการถามหาอนาคต ไม่ใช่สร้างวิกฤต แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนวิกฤตว่าประเทศนี้กำลังมีปัญหา ขณะที่โลกยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงในยุคดิสรัปชัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่คาดคิดมาก่อน การแช่แข็งประเทศด้วยยุทธศาสตร์ 20 ปี และระบอบที่สืบทอดอำนาจไว้ด้วยผู้บริหารที่ไม่มีศักยภาพ จึงไม่ส่งผลดีต่อประเทศไทย
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการเมืองนอกสภาฯ
จาตุรนต์ ระบุ ต้องทำความเข้าใจว่าการชุมนุม เดินขบวน การเสวนา ไม่ใช่ปัญหา แต่จะเป็นปัญหาเมื่อใช้ความรุนแรง ใช้การปราบไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย การเมืองนอกสภาเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตย ประเทศประชาธิปไตย เมื่อได้อำนาจ จะต้องใส่ใจกับการดูแลกลุ่มผู้ชมนุม สวนทางแนวปฏิบัติของไทย ที่หลายครั้ง เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เช่น การจับแล้วไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเผชิญหน้ามากขึ้นในตัวมันเอง จะให้ดี ต้องฟังเสียงสะท้อนนอกสภาฯ แล้วนำกลับไปแก้ไขในสภาฯ
ด้าน นพ.สุรพงษ์ ระบุ ความเข้มแข็ง การขยายแนวร่วมการเมืองนอกสภาฯ มีความสำคัญ พร้อมแนะรัฐควรนำการเมืองนอกสภาฯ เข้าไปในสภาฯ ให้ได้ ขณะที่การชุมนุมจำเป็นต้องมีพันธมิตรที่ขยายเพิ่มความเข้มแข็ง เพื่อให้สภาฯ ฟังเสียงสะท้อนร่วม พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ที่ส่งผลสะเทือนไปถึงการเลือกตั้งปี 2554 รัฐบาลควรร่วมคิดว่าการเมืองอนาคตจะร่วมกับพลเอก ประยุทธ์ หรือไม่ สิ่งที่อยากเห็นคือ การเมืองนอกสภาฯ ต้องเป็นการเมืองที่สันติ และหาจุดร่วมที่กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จาตุรนต์ และ นพ.สุรพงษ์ ยังสื่อสารในนานตัวแทนกลุ่ม OctDem ถึงเหตุผลที่รวมตัวคนเดือนตุลาฯ ทั้งปี 2516 และ 2519 ว่าเป็นเพราะหลายคนเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง และ นศ. ถูกจับถูกตั้งข้อหาร้ายแรง และไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับคนเดือนตุลาฯ ที่เคยผ่านความโหดร้าย-เจ็บปวด จึงต้องการใช้ประสบการณ์มารวบรวมเป็นข้อเสนอต่อสังคม และผู้มีอำนาจว่า “การจะแก้วิกฤตความขัดแย้ง เมื่อมีคนเห็นต่าง ควรจะแก้โดยให้ผู้เห็นต่างในสังคม อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ไม่ใช้การปราบ การทำร้าย และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม”
ส่วนกรณีการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม เช่น ตั้งข้อหาเกินจริง ไม่ให้ประกันตัว ฯลฯ ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปฏิบัติกับผู้ต้องหาเหมือนผู้บริสุทธ์ จึงคิดว่า ควรออกมาส่งเสียงให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยหวังเพียงว่า ศาลยุติธรรม จะพิจารณา ส่วนระยะยาวก็จะร่วมกันจับตา ส่งสัญญาณหากเกิดปรากฏการณ์ “License kill หรือ ใบอนุญาตฆ่า” เหมือนเช่นวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เช่นอดีต โดยยืนยันว่า กลุ่ม OctDem เกิดขึ้นมา ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนแบบคนรุ่นใหม่ แต่จะเป็นการส่งสัญญาณเชิงความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก
แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนผู้นำ คือทางออกวิกฤต?
จาตุรนต์ ฉายแสง ยังระบุถึงทางออกวิกฤต หนีไม่พ้นการแก้รัฐธรรมนูญ หาก พลเอก ประยุทธ์ ออก สิ่งที่ตามมาคือ ส.ว. ก็ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ อยู่ ส่วนจะแก้ไขอะไรก่อน ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริง สุดท้ายจะได้ข้อสรุปว่า จะเปลี่ยนรัฐบาล ต้องแก้ไข รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะถ้าจะแก้แล้วบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่แก้ก็จะเกิดวิกฤตต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตช้า ฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมต้องเห็นแก่บ้านเมือง หากปล่อยไปเช่นนี้ประเทศจะไปสู่หายนะ เป็นหน้าที่ของคนห่วงบ้านเมืองต้องคิดว่าจะไปรอดได้ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อีกประเด็น คือ การนำข้อเสนอของทุกฝ่ายมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ รัฐธรรมนูญปัจจุบันบอกอยู่แล้วว่าแก้ไขหมวดไหนก็ได้ ยกเว้นหมวดการปกครอง จากนั้นค่อยไปตัดสินที่ประชามติ คือการออกจากความขัดแย้งโดยสันติ หากรัฐธรรมนูญดี การเลือกตั้งก็จะมีความหมาย…
นอกจากนี้ ยังเสนอให้พรรคฝ่ายค้านเปลี่ยนจากการเสนอแก้ไขรายมาตรา มาร่วมกันกดดันเสนอให้แก้ไขที่อำนาจ ส.ว. จะได้ตรงจุดมากขึ้น
“รัฐธรรมนูญแก้ยาก แต่ถ้าไม่แก้ ก็หายนะ ประเทศไทยอาจไปไม่รอด วิกฤตไม่เลิก ถ้าเราเปิดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ แต่ยกเว้นแก้ไขหมวดการปกครอง ข้อเสนอทั้งหลาย เอาเข้ามาแก้ไข รัฐธรรมนูญตัดสินที่การลงประชามติ คือ ทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. คาดการณ์ในแง่เวลา 18-24 เดือน กว่าจะร่างฉบับใหม่ พร้อมตั้งคำถามว่า 18-24 เดือน จะทนไหวไหวหรือไม่
“ผมเคยเป็นนักธุรกิจ เป็นข้าราชการ ผมไม่เคยร้อนใจ เมื่อเศรษฐกิจจะตกก็ไม่สนใจ เพราะผมสบายดี แต่ต้องไม่ลืมว่า คนจำนวนไม่น้อยลำบากมาก”
เสนอระยะสั้น : ต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศ
นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะเลือกอย่างไร จะลาออก หรือยุบสภาฯ ก็ตาม เพื่อให้เห็นความหวังก่อน ต้องให้สังคมไทยเคลื่อนไปข้างหน้า รอไม่ได้ ถึงเวลานายกรัฐมนตรีต้องวางมือ ปล่อยคนอื่นมาบริหารประเทศ ส่วนการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ ก็มีทั้งเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่สุดโต่งมากจนเกินไป ต้องทำให้คนในสภาฯ รู้สึกว่าเกมอยู่ในสภาฯ เช่น ส.ว. 84 คน ยอมแก้บางอย่าง เปิดทางให้ประเทศเดินต่อก็จะเป็นประโยชน์
“จุดวิกฤต คือ อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ… แต่ระยะสั้น ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ เพราะชุดความคิดการบริหาร ไปไม่รอด ถ้าต้องเจอวิกฤตรอบใหม่ ผู้มีอำนาจต้องตั้งสติ เมื่อสิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่ได้ไปต่อ ควรหาทางลงที่สวยงามน่าจดจำ”
สำหรับทางออกและทางเลือกของประเทศเวลานี้ คือ การเปิดเวทีรับฟังความเห็น ใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรมกับผู้เห็นต่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้นายกฯ ลาออก โดย นพ.สุรพงษ์ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า กระดุมเม็ดแรกที่สำคัญ คือ ผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้ความรุนแรง โดยยกตัวอย่างในยุคของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แม้บริหารประเทศดี มีความสามารถ แต่ยังใช้แนวทางยุบสภาฯ หลายครั้ง เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ แต่หากรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ยังเน้นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ติดผิด
“ครั้งนี้แปลกใจที่นายกฯ ไม่ถอย ผมอยากให้ตั้งสติว่า ถ้าอยากจะบันทึกในประวัติศาสตร์ ว่าท่านไม่ได้สร้างปัญหาให้ประเทศ ท่านจะหาทางลงอย่างไร ท่านไม่มีทางที่จะอยู่เป็นนายกฯ ตลอด จะลงแบบไหนให้สวยงาม และเป็นที่จดจำได้…”