สปสช. เผย มีคนโทรกว่า 4,000 สาย ย้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจไม่ต้องกลัวไม่มีเตียง ด้าน กทม. เปิดโรงพยาบาลสนาม เอราวัณ 1 เริ่มเปิดรับผู้ป่วย 13 เม.ย. นี้
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความแออัดในการเข้ารับการตรวจคัดกรองรวมทั้งโรงพยาบาลบางแห่งอาจประสบปัญหาเตียงเต็ม ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ สปสช. ได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการจัดระบบประสานงาน โดยให้สายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากที่วางระบบและเริ่มให้บริการแล้ว ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 11 เม.ย. 2564 เวลา 24.00 น. มีสายโทรเข้ามาจำนวน 4,003 สาย ในจำนวนนี้เป็นสายที่โทรเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับโควิด-19 จำนวน 652 สาย และเป็นสายที่ประสานขอให้จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยจำนวน 28 ราย ซึ่งทาง 1330 ได้ประสานงาน ดังนี้
- ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 2 ราย
- ส่งต่อโรงพยาบาลพริ๊นสุวรรณภูมิ 1 ราย
- ส่งต่อยังศูนย์เอราวัณ กทม. 14 ราย และ
- อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลปิยะเวชเพื่อรอประสานส่งต่ออีก 11 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากเตียงในโรงพยาบาลแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและ Hospitel เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อได้อีกจำนวนมาก ดังนั้น ของให้ประชาชนมั่นใจว่าแม้โรงพยาบาลที่ไปรับการตรวจคัดกรองจะไม่มีเตียงรองรับ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดหาเตียงให้ท่านได้อย่างแน่นอน และขอให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงเข้ามารับการตรวจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งค่าตรวจและค่ารักษาเพราะ สปสช. รวมทั้งกองทุนสุขภาพที่ท่านใช้สิทธิอยู่จะออกค่าใช้จ่ายให้ อย่างไรก็ดี ต้องขอความร่วมมือไม่ปิดบังประวัติการเดินทางเพราะจะกระทบกับการสอบสวนโรค ทำให้การควบคุมโรคลดประสิทธิภาพลง และที่สำคัญจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการในขณะนั้น
ทั้งนี้ สายด่วน สปสช. 1330 เปิดระบบช่วยประสานหาเตียงผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้ารับการดูแลรักษา ขณะนี้ สปสช. และกรมการแพทย์ประสานหาเตียงจาก รพ.เอกชนเครือข่ายหลักไว้แล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ท่านใดที่มีปัญหายังไม่ได้รับการรักษา หรือหน่วยบริการที่ยังหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้ โทรมาได้เลยที่สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ทุกวันเวลา 08.00 น. – 22.00 น.
โรงพยาบาลสนาม เอราวัณ 1 เริ่มเปิดรับผู้ป่วย กทม. 13 เม.ย.นี้
ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจโรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอน ว่า กรุงเทพมหานครดำเนินการเตรียมความพร้อมในภาพรวมของโรงพยาบาลสนามอยู่ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. ขยายศักยภาพโรงพยาบาลใน กทม. ให้เป็นลักษณะกึ่งโรงพยาบาลสนามอย่างเช่นโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สามารถขยายศักยภาพให้รองรับผู้ป่วยได้ 500 เตียง 2. เตรียมโรงแรมไว้รองรับให้ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงแรมที่เราจัดหาไว้ให้ หรือเรียกว่า Hospitel ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดต่อกับโรงแรมที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลของ กทม. และ 3. จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม อย่างเช่นโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอนแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลเอราวัณ 1 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 200 เตียง
โรงพยาบาลสนามแห่งนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะรองรับผู้ติดเชื้อโควิด เพื่อสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยโควิดเขียว และดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยจัดรูปแบบผู้ป่วยในเป็นกลุ่มเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อำนวยความสะดวกและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการจัดที่พัก ที่นอน หมอน อาหาร น้ำดื่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น SCG และ CPF รวมทั้งการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ที่จะมาดูแลผู้ป่วย รวมถึงการดูแลความสะดวกด้านอื่น ๆ เช่น ด้านความปลอดภัย โดยในวันนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ เนื่องจากคาดว่าวันพรุ่งนี้จะต้องเปิดรับผู้ป่วยเข้ามาดูแลรักษา ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการให้โรงพยาบาลสนามทุกแห่งมีความพร้อมสมบูรณ์ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในภาพรวมของการจัดเตรียมโรงพยาบาลทั้ง 3 ส่วน ขณะนี้ กทม. สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 1,250 เตียง ขณะเดียวกันยังมีโรงพยาบาลเครือข่ายโรงพยาบาลอื่น ๆ ใน กทม. ที่เชื่อมโยงกันส่งต่อผู้ป่วยให้กันและกัน การบริหารเตียงและการส่งต่อก็ดำเนินการร่วมกัน โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมอบหมายให้ศูนย์เอราวัณ กทม. เป็นผู้บริหารเตียงในการจัดส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยหากรวมจำนวนเตียงของ กทม. แล้ว สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,000 เตียง