เปิดแล้ว​ Hospitel​ 2,385 เตียงรับผู้ติดเชื้อ​โควิด รัฐดึงเอกชนจัดหาเตียงเพิ่มอีก

“อธิบดีกรมควบคุมโรค” ​ แนะผู้เดินทางข้ามจังหวัด ช่วงสงกรานต์ ให้ Work from Home ต่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์​ ยังไม่ต้องกลับเข้ามา ย้ำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ด้าน “อธิบดี​กรมการแพทย์” ​ เผย​ เร่งกระจายยา ฟาวิพิราเวียร์ 400,000 เม็ดทั่วประเทศ​

เมื่อวันที่​ 14​ เม.ย.​ 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงแนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ผู้ติดเชื้อโรคโควิด- 19 ทุกคนต้องเข้าระบบรักษาในโรงพยาบาล สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในการบริหารจัดการเตียง ให้เพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ทั้งหมด 4,703 เตียง ส่วนโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel จำนวน 1,482 เตียง สำหรับผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก่อนเพื่อประเมินอาการ หากมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel โดยมีกรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบกำจัดของเสีย และป้องกันการแพร่เชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกและชุมชน

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ | รองอธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนจัดระบบ Hospitel เพื่อหาเตียงเพิ่ม สำหรับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการประเมินอาการว่ามีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเข้าสู่ระบบ โดยขณะนี้มีเตียงรองรับจำนวน 2,385 เตียง และมีผู้ติดเชื้อที่เข้าระบบแล้วจำนวนกว่า 969 ราย ทั้งนี้จะนำผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรอเตียงเข้าสู่ระบบโดยเร็ว นอกจากนี้ภาครัฐยังมีการเตรียมจัดหาเตียงเพิ่มเติม โดยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมเตรียมโรงพยาบาลสนาม กรมการแพทย์เตรียมเปิด Hospitel คาดจะมีเตียงเพิ่มขึ้น 450 เตียง และโรงพยาบาลรามาธิบดี เตรียมเปิด Hospitel เพิ่มเติม อีก 2 แห่ง 100 เตียง

“ขอความร่วมมือประชาชนที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อและได้รับผลการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด- 19 ให้อยู่ที่บ้าน แยกตนเองออกจากคนในครอบครัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และรอการประสานจากโรงพยาบาลเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่เดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อหาเตียงด้วยตนเอง เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างทางไปสู่ผู้อื่น”

สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด- 19 แต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือรอเตียงนานเกินไป ทั่วประเทศสามารถประสานได้ที่ สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับในเขต กทม.และปริมณฑล ติดต่อเพิ่มที่สายด่วน กรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 1668 ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. สายด่วน สปสช. 1330 หรือทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @Sabaideebot โดยกรอกข้อมูลเช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร.ติดต่อ เพื่อความสะดวกสำหรับการจัดหาเตียง

สธ.เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 100% ใน 1 เดือน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ | ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคโควิด- 19 ว่า ที่ประชุมซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกกระทรวง มีการประชุมวางแผนรับมือโควิด- 19 ใน 3 ประเด็น

1.สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ โดยมาตรการสำคัญที่ได้ทำไปแล้ว คือ การปิดสถานบันเทิง โดยมีการเสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง การจัดงานที่มีคนจำนวนมากก เน้นให้ทำงานที่บ้าน ขอความร่วมมือประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาต่อไป

2.การบริหารจัดการเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด- 19 ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกการทำงานให้บริหารจัดการเพิ่มเตียงมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์

และ 3.เรื่องวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ด้วยข้อมูลระบาดวิทยาและด้านวิชาการ วัคซีนนำมาใช้ในประเทศไทย ทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวค มีประสิทธิภาพ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสั่งการให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ และต้องฉีดให้บุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะด่านหน้าทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ได้ 100%

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์​ | อธิบดีกรมควบคุมโรค

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 13 เม.ย. รวม 579,305 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 505,744 ราย และครบสองเข็ม 73,561 ราย ถือว่าฉีดได้ตามเป้าหมาย ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ซึ่งรอการตรวจทางห้องปฏิบัติการและเอกสาร คาดว่าจะส่งมอบให้กรมควบคุมโรคได้ใน 1-2 วันนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้จัดสรรวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 6 แสนโดส โดยขอให้ดำเนินการฉีดให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน หรือต้องฉีดให้ครบทุกคนภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากต้องฉีดคนละ 2 โดส

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ภาพรวมการแพร่ระบาดในรอบนี้ ได้กระจายไปทั่วประเทศ มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากสถานบันเทิง และในกลุ่มนักศึกษาออกค่าย นักศึกษากลับภูมิลำเนา และพบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการทำกิจกรรมรวมกลุ่มในระยะนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อเป็นจำนวนมาก หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันลดพฤติกรรมเสี่ยง งดเว้นการจัดกิจกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในวงกว้าง นอกจากนี้ หลังจากเทศกาลสงกรานต์กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำให้หน่วยงานสาธารณสุขเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรอง ติดตาม กำกับ กักตัว ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคนให้ครบถ้วน

“ส่วนผู้ติดเชื้อแล้วต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม เท่านั้น ถึงแม้อาการไม่มากแต่อาจ​ เกิดอาการปอดบวมและภาวะแทรกซ้อนได้ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ลดโอกาสแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว และชุมชน”

ทั้งนี้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้เข้มมาตรการองค์กร เช่น การสวมหน้ากากอนามัยให้ได้ 100% ในที่ทำงาน ไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกัน จัดรูปแบบการทำงาน Work from Home ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการทุกแห่งดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ในส่วนผู้ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัดในทุกจังหวัด หากเป็นไปได้ให้ Work from Home อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อข้ามจังหวัด หรือหากกลับมาแล้วให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถ้ามีอาการผิดปกติให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1422 นำเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว

สำหรับสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อขอให้เน้นการทำความสะอาดในจุดเสี่ยงที่มีผู้สัมผัสบ่อย เช่น ราวบันได กลอน ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ ด้วยการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องพ่นฆ่าเชื้อ ในอากาศเนื่องจากเชื้อไม่ได้อยู่ในอากาศเป็นเวลานาน ยกเว้นในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น อากาศไม่ระบาย การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในอากาศตลอดเวลาถือว่าเกินความจำเป็น

กรมการแพทย์​เตรียม “ยาฟาวิพิราเวียร์” 4​ แสนเม็ด​ องค์การเภสัชกรรม​ สั่งซื้อเพิ่มอีก​ 5​ แสนเม็ด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ | อธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด- 19 ในประเทศระลอกเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระบบการรักษาพยาบาล การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด- 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ กรมการแพทย์ ได้มีการประชุมหารือแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จนอาการผู้ป่วยหายเป็นปกติและไม่มีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งเป็นระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ไว้ประมาณกว่า 400,000 เม็ด (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2564) ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้มีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 แสนเม็ด โดยจะกระจายยาไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก และโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ยา “ฟาวิพิราเวียร์” มีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่

ทั้งนี้ หลักการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ก็ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิกแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสม ของอาการผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการรีบมาโรงพยาบาลแจ้งประวัติให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบ จะช่วยให้การวินิจฉัยได้ไว และรักษาได้เร็ว ผู้ป่วยก็จะหายไวขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS