แนะ​ “พล.อ. ประยุทธ์” ​ปรับวิธีสื่อสารในภาวะ​วิกฤต​ บอกข้อเท็จจริง​ ตรงประเด็น​ เห็น​ Road​ Map

วิจารณ์​แซ่ด! นายกรัฐมนตรี​แถลงโควิด​ นักนิเทศศาสตร์​ มองการสื่อสารเป็นปลายทาง​ ต้นปัญหามาจากนโยบาย​ ชี้​ สังคมอยากรู้เรื่องวัคซีน​ และแผนเปิดประเทศ​

เมื่อวันที่​ 16​ เม.ย.​ 2564​ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยใน​ Active​ Talk​ ระบุว่าเห็นผลตอบรับทันทีในยุคสังคมออนไลน์​ หลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่ทำให้ถูกวิจารณ์และมีเสียงกรีดร้องเกิดขึ้น เปรียบเทียบกับสถานการณ์ ของฝุ่น PM 2.5 ที่ได้ศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารในภาวะ​วิกฤต ​พบว่าเสียงกรีดร้องของประชาชนในสถานการณ์นั้นไม่ได้เกิดมาจากฝุ่น PM 2.5 แต่เพราะการสื่อสารของรัฐและนโยบายที่ออกมาไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน

“โควิด-19 เป็นวิกฤตกันทั่วโลกจึงได้เห็นการเปรียบเทียบจากรัฐบาลประเทศอื่น การสื่อสารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้ ก็ถือเป็นสไตล์ของท่าน พูดสไตล์ทหาร​ รักชาติ​ ถ้าคนเห็นต่างก็แปลว่าไม่รักชาติ แล้วก็พยายามบอกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจยากลำบาก”

รศ.พิจิตรา​ กล่าวว่า​ ที่จริงแล้วการสื่อสารเป็นประเด็นปลายทาง แต่ต้นทางต้องดูที่นโยบายเป็นหลัก​ ตอนนี้ประชาชนอยากรู้เรื่องวัคซีนมากที่สุด เพราะหลายประเทศได้วัคซีนไปแล้ว​ ในขณะที่ประเทศไทยได้วัคซีนมาจำนวนน้อยมาก​ และเมื่อเทียบกับการฉีดในสัดส่วนประชากรซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน​ และประเทศอื่น ๆ อยากรู้ถึงมาตรการ ฟื้นฟูเยียวยา และเปิดประเทศ​ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจะกอบกู้สถานการณ์และคลี่คลาย​ ขณะเดียวกันมองว่าแม้การแถลงของนายกรัฐมนตรี​จะมีเรื่องการจัดหาวัคซีนอยู่​ แต่กลับถูกกลบด้วยประเด็นอื่น ๆ ที่แทรกระหว่างการแถลง​ และเกิดจากตัวรัฐบาลที่ขาดความน่าเชื่อถือ​ ประกอบกับการสื่อสารที่ไม่เคลียร์

“การสื่อสารในภาวะวิกฤตต้องอาศัยความไว้ใจ​ และความน่าเชื่อถือ​จากผู้ส่งสาร​ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลก็อาจจะลดลงเพราะส่วนหนึ่งมีคนในคณะรัฐมนตรีติดโควิดด้วย”

ขณะที่การสื่อสารในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็มีความไม่แน่ชัดว่าจะปิดหรือไม่ปิด เดินทางหรือไม่อย่างไร​ ซึ่งก็เข้าใจว่านายกรัฐมนตรี​ ก็พยายามประนีประนอมเพราะมองว่าเศรษฐกิจตอนนี้เริ่มไม่ดีแล้ว

“ขณะเดียวกันการสื่อสารของนายกฯ​ ก็เหมือนสื่อออกมาในลักษณะว่าตัวเองเป็นเหยื่อเป็นผู้ถูกกระทำ​ ประชาชนเป็นภาระ​ ซึ่ง​ สถานการณ์นี้​ ประชาชนอยากได้ผู้นำที่บอกให้ชัดเจน​ ว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร”

เปรียบเทียบกับผู้นำในต่างประเทศที่สื่อสารในช่วงวิกฤต​ อย่างประเทศสิงคโปร์นายกรัฐมนตรี จ้องหน้าจอใช้การสื่อสารทางสายตาทำให้คนเชื่อถือเชื่อมั่นและเป็นลักษณะของการพูดกับประชาชน​ให้ไปกับเขาไปด้วยกัน​ เช่นเดียวกับนิวซีแลนด์และเยอรมนี ที่เน้นสื่อสารแบบ​ แคร์ประชาชน ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ช่วงที่เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ก็บอกกับประชาชน บนฐานของข้อเท็จจริงว่าติดจำนวนมาก​ แต่มีอะไรบ้างที่จะรองรับ ส่วนไต้หวันก็มาเป็นทีม วางแนวคิด สื่อสาร ลักษณะห่วงใย​ ปกป้อง ไม่สั่งการและไม่เบลมว่าตัวเองถูกกระทำ เหนื่อยล้าในการแก้ไขปัญหา​

รศ.พิจิตรา​ ยังกล่าวถึง​ข้อเสนอแนะในการสื่อสารของรัฐบาลว่า 1.ให้ข้อเท็จจริง และทำงานอยู่บนข้อเท็จจริงตรงประเด็น 2.​ แสดงให้เห็น​ Road​ Map เพื่อจะนำไปสู่ความหวัง การใช้คำคม คำหวานในตอนนี้ไม่เวิร์กแล้ว​ แต่การทำให้เห็นการแก้ปัญหา​ จะนำมาสู่ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อรัฐบาลที่ดีที่สุด

ชม “ทีมแพทย์-สธ.”​ แบ่งงานสื่อสารประชาชน​ ต่อเนื่อง

นอกจากนายกรัฐมนตรีแล้วการสื่อสารสถานการณ์​โควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จากกระทรวงสาธารณสุข ก็ถือว่ามีรูปแบบการสื่อสารแบบราชการ คือเป็นลักษณะประจำวัน (routine) จนคนรู้สึกชินชา และการ์ดตก​ แต่เรื่องที่เป็นประเด็นหัวใจสำคัญหลักที่คนอยากรู้​ เช่น​ วัคซีนก็ไม่มีความชัดเจนมากพอ ส่วนที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาร่วมวงในการแถลงข่าวด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก อาจารย์​แพทย์อธิบายได้มีความเข้าใจง่าย และเห็นการแบ่งงานกันสื่อสาร​

แต่เรื่องที่คนอยากรู้และสร้างความเชื่อมั่นก็คือเรื่องนโยบาย​ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องเป็นคนพูด ประเด็นหลัก ๆ ที่คนอยากรู้และต้องทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นเพื่อความเชื่อมั่น คือ 1. แนวทางคลี่คลาย​สถานการณ์ 2. มาตรการเยียวยา​ และ 3.​ แผนการเปิดประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS