“หมอธีระวัฒน์” ห่วง ติดเชื้อเพิ่ม-อาการหนักขึ้น ยาเพียงพอ? รองโฆษกรัฐบาล แจง นายกฯ เร่งเพิ่มโรงพยาบาลสนามกว่า 2.5 หมื่นเตียง
ติดเชื้อทะลุ 1,767 คน เสียชีวิตแตะหลักร้อยวันแรก
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศวันนี้ (18 เม.ย. 2564) ทำสถิติใหม่อีกครั้งและแตะหลักพันติดต่อกันเป็นวันที่ห้า โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,767 คน ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 42,352 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษา 13,568 คน แยกเป็นการรักษาในโรงพยาบาล 12,998 คน และการรักษาในโรงพยาบาลสนาม 571 คน
โดยแยกเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 128 คน และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 28 คน ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้เพิ่ม 2 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 101 คน เกินหนึ่งร้อยคนเป็นวันแรก
ส่วนพื้นที่ที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุดเกิน 500 คนของระลอกใหม่ (1-18 เม.ย. 2564)ใน 6 จังหวัดแรก คือ กทม. 3,323 คน, เชียงใหม่ 2,053 คน, ชลบุรี 1,183 คน, ประจวบคีรีขันธ์ 749 คน, นนทบุรี 623 คน และสมุทรปราการ 606 คน ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ก็มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางและส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น
หมอธีระวัฒน์ ห่วง ติดเชื้อมากขึ้น อาการหนักเพิ่มขึ้น ยาจะพอไหม
นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โพสต์ข้อความเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (18 เม.ย. 2564) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่มีอาการเพิ่มขึ้น ซึ่งการให้ยา favipiravir เร็วเกินไปก็เสียของเพราะหายเองได้ แต่ถ้าช้าไปเชื้อจะจุดชนวนให้เกิดการอักเสบชุดที่สอง ทั้งร่างกายทุกระบบ เลือดข้น ลิ่มเลือด ทำให้อาการหนักและเสียชีวิต นั่นคือถ้าอาการเริ่ม “จะส่อหนัก” ก็ต้องให้ยา ไม่ใช่หนักแล้วค่อยให้
ส่วนจำนวนยาที่มีเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 มีจำนวน 400,000 เม็ด และเดือนพฤษภาคมจะมาเพิ่มอีก 500,000 เม็ด ซึ่ง ผู้ป่วย 1 คน ต้องใช้ยาอย่างน้อย 70-80 เม็ด อาจมากถึง 200 เม็ด นั่นคือ 5,000 คน ต่อ 400,000 เม็ด ขณะที่ยาชนิดอื่น เช่น ยาต้านเอดส์ ก็พบว่าได้ผลไม่ดีเท่า
“ตัวเลขต้องแยกกลุ่มมีอาการระดับต่างๆ จะทำให้ทราบสถานการณ์ชัดขึ้น เช่น ใน 6 ระดับ มีกี่ราย ในแต่ละส่วน การดูสัดส่วนของอาการหนักต้องเทียบกับกลุ่มที่มีอาการทั้งหมดตั้งแต่ 3 ไม่ใช่เทียบกับคนติดเชื้อทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะสรุปไปว่า สถานการณ์ไม่รุนแรงไม่น่าห่วงต่อการกระจายผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ”
รองโฆษก แจง นายกฯ เร่งเพิ่มโรงพยาบาลสนามกว่า 2.5 หมื่นเตียง
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์ข้อความเมื่อวานนี้ (17 เม.ย. 2564) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม เบื้องต้นได้ขยายโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัด และส่วนท้องถิ่นไปกว่า 2.5 หมื่นเตียง เพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก
สำหรับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง เช่น กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง ขณะนี้สามารถให้บริการได้ 1,250 เตียง และจะเพิ่มอีก 500 เตียงในเร็วๆ นี้ ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในทุกจังหวัด และประสานงานโดยทันทีกับทางจังหวัด สาธารณสุขในพื้นที่ และดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง
โดยเบื้องต้นสามารถให้บริการได้ 12,822 เตียง จากโรงพยาบาลสนาม 37 แห่ง ทั่วทุกภาค ซึ่งในส่วนกระทรวงกลาโหม กำลังเร่งสนับสนุนและดำเนินการจัดเตรียมความพร้อม โรงพยาบาลสนาม กว่า 5,000 เตียง ทั้งไนพื้นที่ กทม. และปริมณทล รวมทั้งในส่วนภูมิภาค เพื่อส่งมอบให้สาธารณสุขบริหารจัดการในภาพรวมต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดหาโรงแรมที่ไม่มีผู้พักอาศัยมาทำเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว (Hospitel) เพื่อใช้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแพทย์ พยาบาล เครื่องมือที่สำคัญ เช่น ปรอทวัดอุณหภูมิดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่
โดยการดูแลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกไม่มีอาการ แต่หากมีอาการจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลพี่เลี้ยง กลุ่มที่ 2 กลุ่มมีอาการที่อยู่โรงพยาบาล 3-5 วัน หากอาการไม่แย่ลงหรืออาการปกติ สามารถย้ายมาอยู่ที่ Hospitel ต่อไป ซึ่งขณะนี้มี Hospitel แล้ว 23 แห่ง รวม 4,900 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 2,000 เตียง และมีแผนจะขยายให้ได้ถึง 5,000-7,000 เตียงในระยะต่อไป
ส่วนเรื่องค่ารักษา หากผู้ป่วยมีประกันสุขภาพ ให้เบิกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคล หากไม่มีประกันส่วนบุคคลจะได้รับสิทธิตามสิทธิในการรักษาพยาบาลภาครัฐ
นายกรัฐมนตรียังกำชับให้การบริหารจัดการและการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และจำนวนผู้ป่วย ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนจะต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลอย่างดีและรวดเร็ว อีกทั้ง ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีศาสตราจาร์ยคลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกุล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้เร่งเดินหน้าจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับคนไทยด้วย