ผอ.กองระบาดวิทยา ชี้ต้องลำดับความสำคัญสถานที่ไว้รองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เผยทีมสอบสวนโรคทำงานหนัก พบแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 50 คน
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่าการระบาดในประเทศไทยตอนนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสายพันธุ์จากอังกฤษ และพบว่าจำนวนมากมีอาการปอดอักเสบทั้งที่ยังไม่มีอาการอื่น จึงเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามข้อมูลและอาการป่วยอย่างใกล้ชิด ขณะนี้พบมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 21 คน เพิ่มขึ้นมากกว่าตอนระบาดที่สมุทรสาครมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากขนาดนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่กว่า 100 คน
ยืนยัน ยังให้กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่บ้าน
ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่บางจังหวัดเริ่มเปิดศูนย์กักกันผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด- 19 หรือ Local Quarantine (LQ) แล้ว นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ยังต้องกักตัวโดยการแยกตัวเองออกจากครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อ แต่ก็ยอมรับว่า กรณีผู้เสี่ยงสูงต้องตรวจถึงสองครั้งจึงจะทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งกว่าจะรู้ผล อาจทำให้สมาชิกที่บ้านคนอื่นมีความเสี่ยงติดเชื้อไปแล้ว ดังนั้นการดึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แยกออกมาอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ เป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อภายในครอบครัวลง แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดขณะนี้ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงต้องจัดลำดับความสำคัญให้พื้นที่กักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อก่อน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ยังไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ยังสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ แต่ต้องแยกห้องนอน แยกการกิน และแยกพื้นที่เว้นระยะห่างให้พอ
“อย่างไรก็ตามหากพบว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่สามารถดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ เจ้าหน้าที่จะประเมินแล้วต้องพาไปอยู่ในสถานกักตัวเช่นเดียวกับ SQ อย่างที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรก็มี Quarantine Center อยู่ แต่เนื่องจากระบบบริการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อต้องใช้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นอาจจะต้องลำดับความสำคัญให้สำหรับผู้ติดเชื้อก่อน ตอนนี้คือให้กักตัวอยู่ที่บ้าน”
ส่วนกรณีพื้นที่จังหวัดสระแก้วที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้เป็นการประเมินจากพื้นที่ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ คิดว่ามีโอกาสขยับเคลื่อนที่เยอะมากสำหรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงเนื่องจากมีวินัยในตัวเองไม่ค่อยดี ก็สั่งกักตัวได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค
สำหรับพื้นที่ กทม. ยังคงใช้นโยบายการกักตัวอยู่ที่บ้าน และใช้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดตามอาการ แล้วก็เตือนเมื่อถึงเวลาตรวจหาเชื้อ แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นก็อาจมีแนวโน้มต้องใช้มาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในสถานที่ที่รัฐจัดให้
แชร์ทีมสอบสวนโรคระหว่างจังหวัด รับมือผู้ติดเชื้อใน กทม.
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ทั่วประเทศ แต่ละอำเภอจะมีทีมสอบสวนโรคหนึ่งทีม ก่อนหน้านี้พยามปรับเพิ่มเป็น 3 ทีมต่ออำเภอ แต่ละทีมก็จะมีคุณภาพในการสอบสวนโรคต่างกัน การสอบสวนโรคที่ซับซ้อนก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ถามว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนโรคหรือ แพทย์ระบาดวิทยามีเยอะไหม จริงๆมีไม่เยอะ มีน้อยมากถ้าเทียบกับแพทย์สาขาวิชาชีพอื่น อย่างแพทย์อายุรกรรมมีเยอะมาก แต่ทั้งประเทศมีหมอระบาดวิทยาเพียง 100 กว่าคน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อหลักพันคนต่อวัน ก็ยังจำเป็นต้องสอบสวนโรคว่าคนหนึ่งคนสามารถแพร่ถึงใครบ้าง หากปล่อยหมดเลยไม่สอบสวนโรค ก็จะไม่รู้ว่าตอนนี้โรคไปถึงไหนแล้ว แพร่เชื้อถึงไหนแล้วไปถึงครอบครัวไหนแล้ว กรมควบคุมโรคก็จะตามไม่ทัน โรคก็จะแพร่ไปเรื่อยๆ
ส่วนคำถามว่าตอนนี้มีบุคลากรงานระบาดวิทยาสอบสวนโรคทันไหม ต้องเรียนว่าตอนนี้ หนึ่งเคสไม่ได้หมายความว่าสอบสวนแค่คนเดียวผู้สัมผัสบางทีมากกว่า 100 คน
ภาพรวมของทีมสอบสวนโรคคิดว่ายังเพียงพออยู่ วิธีการจัดการคือเขตไหนว่างจังหวัดไหนว่างก็อาจจะต้องเข้ามาช่วยเขตนี้จังหวัดนี้เป็นระบบสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างกรุงเทพฯก็มีหลายส่วนที่ช่วยกัน ไม่ใช่แค่ สำนักแพทย์ กรุงเทพมหานครที่ทำเองโดยมีทีม สคร. สคปม. กองระบาดวิทยา มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปช่วย ทีนี้ถามว่าทันแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับจำนวนเคสที่เข้ามาแล้วก็การตอบคำถามของประชาชน คนที่ติดเชื้อถ้ายิ่งตอบไว รู้เร็ว ก็จะใช้เวลาค่อนข้างสั้น สอบสวนได้เร็วขึ้น
เตือน บริษัท-องค์กร รับมือพนักงานติดเชื้อหลังสงกรานต์
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องขอร้องสถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ คือเตรียมมาตรการรองรับพนักงานที่จะกลับเข้าทำงานหลังสงกรานต์ มีการวัดไข้ และเตรียมข้อมูลหน่วยงานที่จะต้องประสานหากพบผู้ติดเชื้อในองค์กร แม้กระทั่งรายละเอียดในการทิ้งขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อก็ขอให้ดำเนินการแยกให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องหามาตรการลดการรวมตัวในที่ทำงาน งดกินอาหารร่วมกัน การประชุมต่างๆ ให้เน้นระบบออนไลน์ หากผู้ประกอบการเจอผู้ติดเชื้อในองค์กรไม่ต้องตกใจ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหมายเลขที่ท่านได้ลิสต์เอาไว้แล้ว แจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ปิดแผนกเป็นเวลา 1-3 วัน เพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ โดยสามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้
สิ่งที่กระทรวงต้องการมากที่สุดคือ การให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) ให้มากที่สุด หรืออย่างน้อย 10-50 % โดยพิจารณาตามความสำคัญ คัดกรองพนักงานเบื้องต้น โดยเฉพาะที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดว่ามีการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ ไปพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ไปในที่ที่มีคนเยอะๆ หรือไม่ หากมีความเสี่ยงเหล่านี้ขอให้มีคำสั่งให้ทำงานที่บ้านไปก่อนอย่างน้อยคือ 14 วัน ส่วนองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน นั้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ร้านอาหาร ต่างๆ ควรให้พนักงานที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดกักตัวเองในที่พัก 14 วัน เพราะตอนนี้มีการติดเชื้อทั่วประเทศ บางคนอาจจะติดเชื้อแล้วไม่รู้ตัวก็ได้ หากให้กลับมาทำงานบริการทันที อาจจะมีปัญหาแพร่ระบาดในวงกว้างได้อีก โดยเฉพาะจากจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ
“ขอย้ำว่าการกักตัว หรือการทำงานที่บ้านนั้น เป้าหมายคือต้องการให้แยกตัวจากคนอื่น เพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่ในบ้านหรือห้องพักของตัวเอง ไม่ใช่ว่าออกไปร้านสะดวกซื้อ หรือออกไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟ ถ้าเป็นเช่นนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เราต้องการให้ทำงานที่บ้าน เพราะยังมีการออกไปเจอคนอีกจำนวนมาก”
กองระบาด เผย พบแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 50 คน
มีรายงานพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 50 คน ทั้ง 1. จากการใช้ชีวิตส่วนตัว 2.การสัมผัสกับบุคลากรที่ติดเชื้อ และ 3. ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้คนป่วยที่มาตรวจส่วนใหญ่จะแจ้งชัดเจนว่ามีความเสี่ยง ก็จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถระมัดระวังตัวได้ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยมาด้วยโรคอื่น เพราะฉะนั้นการปกปิด หรือโกหกไทมไลน์ อาจจะไม่มีผลตรงนี้ แต่จะมีผลต่อการสอบสวนโรคในชุมชนต่อ ดังนั้นจึงไม่ควรปกปิด หรือโกหกข้อมูล