เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายเขตพื้นที่ฯ สำรวจความพร้อม ก่อนเปิดเทอม 17 พ.ค.นี้ เตรียม 5 รูปแบบ จัดการเรียนการสอน ดึงความมั่นใจผู้ปกครอง ช่วงสถานการณ์โรคระบาด สพฐ. ปรับปฏิทินสอบครูผู้ช่วย สอดรับวิกฤต
วันนี้ (21 เม.ย. 2564) อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมหารือเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 17 พ.ค.นี้ โดย สพฐ. จัดเตรียมรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ คือ 1. On Site 2. On Air 3. Online 4. On Demand และ 5. On Hand ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนจะให้โรงเรียนปรับไปตามความต้องการของตน เช่น ให้เรียน On Site ในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่ไม่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้น
เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำรวจความพร้อมของโรงเรียนทุกแห่ง และให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมของนักเรียนทุกคนให้เสร็จภายในวันที่ 5 พ.ค. นี้ ทั้งเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้จัดการเรียนการสอน ความพร้อมของโรงเรียนว่าจะสามารถกระจายความรู้ให้นักเรียนทุกคนได้ คาดว่า สพฐ. จะได้ทราบข้อมูลว่า 5 รูปแบบที่วางไว้ แต่ละรูปแบบจะมีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนแต่ละรูปแบบกี่ค
“การจัดการเรียนการสอนจะต้องยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา สพฐ. ได้ถอดบทเรียนมาแล้ว และเน้นย้ำกับทุกโรงเรียนว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ แต่การเรียนการสอนจะหยุดไม่ได้ ทุกโรงเรียนจะต้องหารูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนทุกคน และไม่ควรนำการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาจัดการสอนแบบเหมารวมทั้งโรงเรียน”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า โรงเรียนต้องร่วมมือกับผู้ปกครอง และภาคประชาสังคมมากขึ้นด้วย เช่น อาจร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาดูแลสุขภาพอนามัย และดูแลการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด ทั้งนี้ ที่ประชุมก็คำนึงถึงความวิตกกังวลของผู้ปกครองด้วย เช่น โรงเรียนจัดการเรียนการสอนรูปแบบ On Site ถ้าผู้ปกครองรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะกังวลว่าบุตรหลานจะติดโควิด-19 ให้โรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ตามความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ไปปรับปฏิทินสอบบรรจุ และแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. , ปฏิทินการสอบบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ทั่วไป สังกัด สพฐ. , ปฏิทินสอบบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. และ ปฏิทินสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) โดยจะต้องปรับให้กระบวนการต่าง ๆ แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้มีครูทันสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ สพฐ. ขับเคลื่อนหลักสูตรอิงสมรรถนะ ให้เสร็จทันใช้ปีการศึกษา 2565 ซึ่งขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างผลักดันหลักสูตรนี้ เบื้องต้นจะนำหลักสูตรไปนำร่องทดลองใช้พื้นที่นวัตกรรมก่อน และจะเร่งดำเนินการให้หลักสูตรฐานสมรรถนะเสร็จทันใช้ภายในปีการศึกษา 2565 แน่นอน
สั่งการผู้บริหารสถานศึกษา เตรียมพื้นที่พร้อมรองรับ รพ.สนาม หากโควิด-19 วิกฤต
ขณะที่ ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่า คุณหญิงกัลยา สั่งการให้สถานศึกษาในกำกับทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และให้สถานศึกษาในกำกับจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับเป็นโรงพยาบาลสนาม หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ เพื่อเป็นที่พักสำหรับสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เพื่อป้องกันการระบาดสู่บุคคลภายนอกและชุมชน
คุณหญิงกัลยา ยังฝากเน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะนักเรียนที่พักค้างประจำในโรงเรียนต่าง ๆ นักเรียนที่อาศัยอยู่บ้านที่มีผู้ปกครองเป็นผู้สูงอายุในระหว่างปิดเทอม ให้ยึดหลัก D-M-H-T-T ของกรมควบคุมโรค เพื่อหยุดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งนี้ หากมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานศึกษาในกำกับ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในชุมชน
อ่านเพิ่ม สพฐ. เลื่อนปฏิทินรับนักเรียน ปี’64 ย้ำเด็กทุกคนมีที่เรียนก่อนเปิดเทอม
อ่านเพิ่ม ศธ. เคาะเปิดเทอม’64 ตามเดิม 17 พ.ค. นี้