“ตรีนุช” ย้ำความปลอดภัยต้องมาก่อน ชวนหลายภาคส่วนต่อยอดการเรียนรู้หลายรูปแบบ เตรียมพร้อมครู นักเรียน ผู้ปกครอง พร้อมแจงกิจกรรมนำติวเตอร์ดัง อบรมครูผ่านออนไลน์ หวังสร้างพลังบวกให้ครูก่อนเปิดเทอม
วันนี้ (11 พ.ค.64) ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำทีมผู้บริหารแถลงข่าว การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีมติเลื่อนเปิดภาคเรียน ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พ.ค. เป็น 1 มิ.ย. โดยจัดการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน แบ่งเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 คือ 17-31 พ.ค.64 หรือช่วง 11 วันก่อนเปิดภาคเรียน เตรียมความพร้อมไว้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบออนไลน์ ได้จัดทำเว็บไซต์กลางที่มีชื่อว่า “ครูพร้อม” ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และการสนับสนุนจากภาคเอกชน รวบรวมกิจกรรมและคลังข้อมูลที่มีประโยชน์ไว้ให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง เข้าถึงทักษะการเรียนรู้ และทักษะอาชีพก่อนเปิดภาคเรียน ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้” แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย
1. ครูและบุคลากรทางการศึกษา กิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษาและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในอนาคต
2. ผู้เรียน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา โดยเป็นไปตามความเหมาะสมในการจัดกิจกรรมแต่ละพื้นที่ ภายใต้มาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด
3. ประชาชนทั่วไป หากมีความสนใจพัฒนาทักษะ ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เช่นกัน
สำหรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ภายใต้แนวคิดครูพร้อม จะใช้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นฐานการเรียนรู้แบบ Active learning เพื่อผลักดันไปสู่การศึกษาบนฐานสมรรถนะที่จะมีการเปลี่ยนหลักสูตรในปีการศึกษา 2565
“เรียกว่าเป็นการเตรียมความพร้อมที่ ศธ. คัดสรรข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้ให้คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง อยากให้ทุกท่านมีความเข้าใจตรงกันว่าวัตถุประสงค์ของครูพร้อม ต้องการให้เป็นทางเลือกในการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ตามสถานการณ์ ขอย้ำว่าการใช้ครูพร้อมไม่ได้เป็นการบังคับ ไม่มีผลต่อการประเมินโรงเรียน หรือประเมินครู วันนี้ถือเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ทาง ศธ. ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้รวบรวมการทำงาน แบบบูรณาการทั้ง 4 หน่วยงานหลักทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทำให้เกิดเว็บไซต์นี้ขึ้นมา”
อีกรูปแบบ คือระบบออนไซด์ (On Site) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ รมว.กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประสานงานกับ ศบค.จังหวัด ออกแบบทักษะการเรียนรู้ในพื้นที่โดยยึดตามมาตรการความปลอดภัยของ ศบค.อย่างเคร่งครัด
“โควิด-19 ที่เกิดขึ้น จะไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา แล้วก็ผ่านไป แต่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ที่เราจะมีกระบวนการนำเอาสถานการณ์จริงขึ้นมา ไม่ได้เอาความรู้แค่ในตำรามาใช้ นี่เป็นแนวคิดที่จะต่อยอดไปด้วยกัน”
อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดถึงการเตรียมเปิดเทอม ระยะที่ 2 โดยให้ทุกโรงเรียนจะต้องมีความพร้อมจัดการเรียนการสอนไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร โดยได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไว้ 5 รูปแบบ คือ
1. ออนไซด์ (On site) คือ การมาเรียนที่สถานศึกษา
2. ออนไลน์ (On line) คือ การเรียนที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนผ่านอินเทอร์เน็ต
3. ออนดีมานด์ (On demand) คือ การเรียนที่ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านสื่อที่มีบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
4. ออนแอร์ (On air) คือ เรียนผ่านโทรทัศน์ที่บ้าน ช่อง DLTV
5. ออนแฮนด์ (On hand) คือ สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีใด ๆ ให้ครูนำเอกสารการเรียนและใบงานแบบฝึกหัดไปให้ที่บ้าน
ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบตามศักยภาพและความเหมาะสม โดยเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ ส่วนสถานศึกษาที่สอนออนไซด์ หรือการมาเรียนที่โรงเรียน จะต้องมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีที่ล้างมือพร้อมจัดเตรียมสบู่หรือแอลกอฮอล์สำหรับใช้ทำความสะอาด เว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคคล 1-2 เมตร รวมถึงการจัดเว้นระยะห่างของที่นั่งเรียน และที่รับประทานอาหาร ทำความสะอาดและจัดให้มีการระบายอากาศที่ดีบริเวณห้องเรียนและพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงลดความแออัดด้วยการลดระยะเวลาการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น
“วันที่ 17-31 พ.ค. นี้ สพฐ. ได้ให้โรงเรียนเตรียมความพร้อม โดยให้ครูซักซ้อมทดลองการเรียนการสอน ที่ผ่านมาได้รับทราบปัญหาจากเด็กนักเรียนและครูเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ที่เรียนเยอะเกินไปงานเยอะเกินไป ก็จะให้ลดลง ในส่วนของการสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ต สพฐ. ก็ได้เตรียมสนับสนุนตรงนี้ไว้แล้ว ขอแจ้งไปยังผู้ปกครองว่าทางกระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะสนับสนุน”
ยืนยัน จัดติวเตอร์ “อบรมครู” ช่วยเติมพลังบวกให้ครูก่อนเปิดเทอม
ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการด้านการศึกษา ออกมาคัดค้านโครงการอบรมออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา “สร้างทางเลือกการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ระหว่างวันที่ 12 – 28 พ.ค.นี้ โดยมีวิทยากร ติวเตอร์ชื่อดัง ร่วมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแนวทางการเรียนรู้ก่อนเปิดเทอมนั้น
อ่านเพิ่มเติม : นักการศึกษา ค้าน “ตรีนุช” จัดติวเตอร์-วิทยากรดัง “อบรมครู” เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม
ตรีนุช ยืนยันว่า อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม และเป็นเรื่องที่ทุกคนห่วงใย ตนเข้าใจถึงความห่วงใย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาคเอกชนอาสาเข้ามาช่วยอบรมครู ศธ. จึงอยากให้เวลา 11 วันที่มีอยู่ ให้หน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยเตรียมความพร้อมให้ครู และนักเรียน และกิจกรรมที่จัดนี้ ศธ.เป็นทางเลือกให้ครู นักเรียนเข้ามาเรียนเพิ่มเติม ไม่บังคับ ไม่มีผลในการประเมินหรือเลื่อนวิทยาฐานะครู และไม่นับเป็นวิชาหน่วยกิต
ขณะที่ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลงาน สช. และ กศน. ชี้แจงว่า กิจกรรมดังกล่าวตั้งใจให้เกิดการสร้างพลังบวก และพลังแห่งการสร้างสรรค์การพัฒนาการศึกษาและสังคม โดยการเชิญติวเตอร์ชื่อดังมาเป็นวิทยากร คาดหวังให้เกิดการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งเชื่อว่ากูรูมากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะมาช่วยสร้างเสริมเติมเต็มกลยุทธ์ เทคนิคการสอน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
“เราอาจจะต้องเพิ่มไม่ใช่แค่การศึกษาอย่างเดียว บุคลิกภาพที่จะสร้างเสริมความมั่นใจ การเรียนรู้จิตวิทยาในการเข้าใจเด็ก ๆ มากไปกว่านั้น ทักษะที่จะสร้างงานและสร้างเงินเพื่อที่จะอยู่ได้ในสังคมในอนาคต ดิฉันคิดว่าจะเป็นสิ่งโน้มน้าวที่จะทำให้ทุกท่านเห็นความสำคัญ ที่จะมาช่วยกันสร้างพลังบวก มาสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดความสนใจของนักวิชาการ พี่น้องประชาชน เด็ก ๆ และภาคประชาสังคม มาเรียนรู้พัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างและนำประเทศไทยไปด้วยกัน”