ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ชี้ เด็กและเยาวชนจากชุมชนแออัดและแคมป์คนงานทั่ว กทม. กำลังเผชิญภาวะ “เครียดเงียบ ความรู้ถดถอยอย่างหนัก กินไม่ครบมื้อ เตรียมหลุดระบบการศึกษา” แนะ สังคมมีส่วนร่วมปกป้องดูแล แม้ยังไม่เป็นผู้ติดเชื้อ
วันนี้ (31 พ.ค. 2564) ในงานเสวนาออนไลน์ “ผลกระทบจากโควิด-19 วิกฤตที่มองไม่เห็น ความเหลื่อมล้ำของเด็กเปราะบางในชุมชนแออัด และพื้นที่เสี่ยง” จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย The Reporters และ The Active
ศาสตราจาย์สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ที่ กสศ. เข้าไปทำงานในพื้นที่ชุมชนแออัดทั่วกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก จนถึงวิกฤตครั้งล่าสุด พบว่า เด็กและเยาวชนในพื้นที่เสี่ยง กำลังเผชิญ 4 ประเด็นปัญหาใหญ่ที่มากับภาวะโรคระบาด
“เครียดเงียบ” คือ ปัญหาแรกจากห่วงโซ่ความรุนแรงของโควิด-19 ที่ทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับปัญหาเข้าไปในจิตใจ สาเหตุมาจากครอบครัวขาดรายได้ สภาพแวดล้อมใกล้ตัวที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรอบตัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด หรือการต้องกักตัวแล้วไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ทั้งที่ธรรมชาติตามช่วงวัยจำเป็นต้องได้วิ่งเล่นสนุกสนาน ข้อค้นพบที่ได้จากการสังเกต คือการตอบสนองของเด็กด้วยความเงียบงัน มีสายตาเศร้ากังวล
ปัญหาที่สอง คือ การปิดโรงเรียนทำให้ “ภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอย” กว่าปกติราว 2-5 เดือน ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณภาพการเรียนรู้ในภาพรวมตกต่ำลงไปกว่าเดิมอีกมาก สาม คือ “ภาวะทุพโภชนาการ” จากการกินไม่ครบมื้อ บางมื้อไม่ได้กินเต็มอิ่ม หรือได้สารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งพบว่า มีเด็กวัยเรียนร้อยละ 35-40 ไม่ได้กินอาหารเช้า และปัญหาข้อที่สี่ คือ เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงในการ “หลุดออกจากระบบการศึกษา”เนื่องจากหลายครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีกำลังส่งเสียให้บุตรหลานเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ
“วิกฤตครั้งนี้ เสียงของความเงียบงันกำลังอยู่ภายในตัวเด็ก ๆ เราต้องพยายามฟังเสียงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาวะจำยอม หรือการเก็บกักตัวเองที่ระบายออกมาไม่ได้จนกลายเป็นภาวะเครียดเงียบให้ได้ยิน เพื่อหาทางเยียวยาเขา”
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวต่อไปว่า ประเด็นปัญหาทั้ง 4 ด้าน คือข้อบ่งชี้ว่าแม้จะยังไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่เด็กและเยาวชนในชุมชนแออัดและพื้นที่เสี่ยงทุกแห่ง ล้วนสูญเสียสิทธิในทุกด้าน มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง พัฒนาการถดถอย ขาดความคุ้มครอง ไม่มีส่วนร่วม และเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มเปราะบางและขาดโอกาสในสังคม
ศ.สมพงษ์ เสนอให้ กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการให้มีโรงพยาบาลสนามสำหรับรักษาแบบครอบครัว, กระทรวงศึกษาธิการงดเก็บค่าเล่าเรียน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ชุดเครื่องแบบลูกเสือที่ไม่ค่อยได้ใส่ ประสานงานการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก และ เสนอไปยังผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้มีนโยบายจัดสรรอาหารเช้าสำหรับนักเรียนเช่นเดียวกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
“กล่องการเรียนรู้เติมยิ้ม” นำร่องกลไก อสม.การศึกษา ส่งความสุขและการเรียนรู้ให้เด็กยามวิกฤต
ศาสตราจาย์สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวอีกว่า 1 ปีเต็มที่ กสศ. ทำงานร่วมกับครูจากเครือข่ายประชาสังคมของเด็กนอกระบบในชุมชนแออัดและแคมป์คนงาน ซึ่งเป็นเสมือนอาสาสมัครการศึกษาของชุมชน ราว 100 คน ได้พัฒนาพื้นที่ทดลองระบบการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ได้รับการเรียนรู้เต็มศักยภาพและความต้องการ ภายใต้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดและมีส่วนร่วม
จากปัญหาที่พบเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา “กล่องการเรียนรู้เติมยิ้ม” ส่งมอบไปถึงเด็ก ๆ เพื่อเยียวยาผลกระทบด้านการเรียนรู้ถดถอย ไม่ให้พัฒนาการต้องหยุดชะงัก ประคับประคองให้เด็ก ๆ ผ่านพ้นวิกฤต และเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการช่วยเหลือที่ยั่งยืนต่อไป โดยเริ่มจากชุมชนนำร่องในพื้นที่ชุมชนโรงหมู, ชุมชนริมคลองวัดสะพาน, ชุมชนแฟลต 23-24-25 และชุมชนบ้านมั่นคง รวม 802 หลังคาเรือน ที่มีจำนวนเด็ก 1,455 คน รวมไปถึงบางพื้นที่ในชุมชนริมทางรถไฟ เช่น ชุมชนโค้งรถไฟยมราช, ชุมชนบ่อนไก่, ชุมชนไซต์ก่อสร้างที่ทองพูล บัวศรี หรือครูจิ๋วแห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กดูแลอยู่
“ภายในกล่องการเรียนรู้นี้ ได้คำนึงถึงสิ่งของจำเป็นทั้งด้านสุขอนามัย เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ อาหาร นม ขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงของเล่นเพื่อการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก ๆ อย่างน้อยที่สุด เราคาดหวังว่ากล่องเติมยิ้มจะช่วยทำให้เด็ก ๆ ที่ได้รับมีรอยยิ้มหรือแววตาที่มีประกายความสุขแวบขึ้นมาบ้าง เพราะใจความสำคัญที่สุดของการคัดเลือกสิ่งของต่าง ๆ บรรจุลงกล่องใบนี้แล้วมอบให้เด็ก ๆ คือเราอยากให้เขาได้รู้ว่าพวกเขามีตัวตน ยังมีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ สามารถต่อสู้กับสถานการณ์ได้อย่างไม่ต้องจมอยู่แต่ในความเครียดความทุกข์ กล่องนี้จึงไม่ใช่แค่เติมยิ้ม แต่ยังเป็นการเติมสิทธิให้เขา และยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของคนจากทุกภาคส่วนในสังคม ที่พร้อมจะส่งมอบน้ำใจให้กันเสมอเมื่อเกิดวิกฤตใหญ่ ๆ ขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ว่าผู้ใหญ่ทุกคนยังพร้อมเอาใจใส่ดูแลเขา และเพื่อให้ทุกคนในสังคมผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปด้วยกันให้ได้ในที่สุด”