“ร้านอาหารรอดตายรายวัน” เสียงสะท้อนภาคธุรกิจ มอง “วัคซีน” คือ ทางออก

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ มาตรการคุมโรคต้องมาพร้อมการเยียวยา จี้ รัฐเร่งหาวัคซีนฉีดโดยเร็วทดแทนล็อกดาวน์ หอการค้าไทย ลุ้น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ดึงรายได้จากนักท่องเที่ยว กระตุ้น GDP

“นายกรัฐมนตรีตัดสินใจถูก ที่ไม่ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ”

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวสนับสนุนการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ที่จะเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนต่างชาติว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว และมีความจำเป็นต้องนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย

เขาระบุว่า การนำเงินมาเยียวยา หามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่เพียงพอ การท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องเปิดเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามา และทำให้นักธุรกิจต่างชาติสามารถเดินทางมาในไทยได้ อีกทั้งยังเป็นฤดูกาลที่จะต้องสั่งสินค้า ลูกค้าจากประเทศต่าง ๆ จะสามารถเดินทางเข้ามาไทย และจะทำให้คนไทยสามารถเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาออเดอร์จากต่างประเทศได้

แม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อจะแตะ 3,000-4,000 คนต่อวัน จนแพทย์หลายคนเห็นตรงกันว่าการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมโรคในขณะนี้ แต่ “ประธานกรรมการหอการค้าไทย” มองว่า การจัดหาวัคซีนให้เร็วที่สุดและฉีดกับประชาชนจำนวนมากให้เร็วที่สุด คือ ทางออก โดยคาดว่าการเริ่มต้นเดินหน้าเปิดประเทศ ด้วยการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” วันที่ 1 ก.ค. นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างแน่นอน ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจ GDP ในสิ้นปี 2564 เชื่อว่าจะบวกอย่างน้อย 0.53% หรือถึง 2% ได้

ร้านอาหารประเมินรอดตายรายวัน

แม้ตัวเลข GDP ยังเป็นบวกตามการประเมินของประธานสภาหอการค้าไทย เพียงเล็กน้อย แต่บรรยากาศการทำมาหากินของหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ จากมาตรการควบคุมโรค ซึ่งยังไม่เห็นการฟื้นตัว ทำได้เพียงประคับประคองเป็นรายวัน

เสียงสะท้อนจาก “สรเทพ โรจน์พจนารัช” ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร แม้เห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาลที่ยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ แต่การ Work From Home ของพนักงานหลายบริษัท และผู้คนที่เริ่มล็อกดาวน์ตัวเองด้วยความสมัครใจ ก็ทำให้บรรยากาศร้านอาหารไม่คึกคัก และต้องประเมินกันแบบวันต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องหยุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ของร้านอาหารถึง 30% ทำให้ยังมองไม่เห็นภาพว่า ธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว 

“อย่างน้อยการไม่ล็อกดาวน์ ยังพอเรียกความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยาว่าจะมีลูกค้าบางส่วนสามารถเดินทางมานั่งกินที่ร้านอาหารได้ตามปกติ​ พอมีข่าวว่าจะล็อกดาวน์ คนก็หายไป”

แม้ “สรเทพ” รับรู้ถึงความจำเป็นทางด้านการแพทย์ในการควบคุมโรค แต่เชื่อว่ายังมีทางอื่นที่สร้างจุดสมดุลที่ดีกว่าการล็อกดาวน์ คือ การฉีดวัคซีน ให้เร็วและเพียงพอ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ดีมากขึ้น 

สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านมาแม้จะมีนโยบายช่วยเหลือจากรัฐ เช่น การปล่อยเงินกู้ แต่ก็มีเงื่อนไขมากมายและซับซ้อน ทำให้บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนจำนวนมาก ต้องปิดกิจการไปจากวิกฤตครั้งนี้ ถ้ายังไม่มีความชัดเจนว่าเปิดเมืองได้เมื่อไร ก็ยิ่งมองไม่เห็นแสงสว่าง

มาตรการคุมโรคต้องมาพร้อมการเยียวยา 

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน กลายเป็นการระบาดของสายพันธุ์แอลฟาและเดลตาที่แพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดิม และทำให้วัคซีนที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด อาจจะได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลง 

เริ่มมีความต้องการเตียงผู้ป่วยวิกฤต หรือ ไอซียูเพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่น้อยกว่า 30 เตียงต่อวัน แม้จะทำการระดมทรัพยากรเพิ่มเตียงเพิ่มคนอย่างไรก็อาจจะไม่เพียงพอในที่สุด จนอาจจะทำให้อัตราป่วยตายของผู้ติดเชื้อโรคโควิดสูงมากขึ้น และเริ่มมีผลกระทบต่อผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ 

“วิโรจน์ ณ ระนอง” ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร TDRI ระบุว่า รัฐบาลสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยบูรณาการนโยบาย และมาตรการควบคุมโรค ซึ่งบริหารจัดการโดย ศบค. กับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้สอดคล้องและเสริมกันในแต่ละช่วงเวลา 

“ผมยังมองว่าประเทศไทยโชคดีที่ยังมีหนี้สาธารณะ 60% ซึ่งน้อยกว่าประเทศในแถบยุโรป ซึ่งมีหนี้สูงกว่านี้มาก หากจำเป็นจริง ๆ รัฐบาลยังสามารถกู้เงินเพิ่มเพื่อมาใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ได้ แต่การกู้เงินที่ผ่านมาต้องตรวจสอบให้ได้ว่าใช้ไปตรงวัตถุประสงค์และคุ้มค่าด้วยเช่นกัน” 

นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งปิดช่องว่างของการดำเนินมาตรการควบคุมโรคบางอย่าง ซึ่งยังไม่มีประสิทธิผลเต็มที่ สร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจมีผลต่อการควบคุมโรค ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคสำหรับประชาชนบางกลุ่มหรือบางบริบท โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือในการเข้าตรวจคัดกรอง และการช่วยเหลือผู้ถูกกักตัวและครอบครัว สร้างการจ้างงานระยะสั้นในกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่การระบาด และการสร้างแรงจูงใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนของประชาชน

ล็อกดาวน์ระยะสั้นยังจำเป็น – ไม่ควรกระจายวัคซีนเบี้ยหัวแตก

ขณะที่บทความ จาก “ผศ. นพ.บวรศม ลีระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ “สมชัย จิตสุชน”​ ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขียนเมื่อ 25 มิ.ย. 2564 “เรายังทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้างในสถานการณ์การระบาดที่เริ่มควบคุมได้ลำบากมากขึ้น?” มีการตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีการขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลที่น่าจะทำได้เต็มที่แล้ว แต่ยังมีนโยบายและมาตรการเชิงรุกที่น่าจะทำได้เพิ่มเติมอีก 4 ด้าน เพื่อจัดการสถานการณ์การระบาดที่เริ่มควบคุมได้ยากลำบากมากขึ้น

1) พิจารณาการใช้ชุดตรวจโรคด้วยตนเองโดยประชาชน ควรเพิ่มการตรวจน้ำลาย (pooled saliva RT-PCR test) ในกลุ่มพนักงานโรงงานหรือสถานที่ทำงานอื่น ๆ เพราะใช้ทรัพยากรที่หน่วยตรวจน้อยกว่าและตรวจซ้ำได้บ่อย ๆ จะได้นำขีดความสามารถของการตรวจเยื่อบุโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab RT-PCR test) ที่เราใช้อยู่เดิมไปตรวจกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ

2) ควรปรับให้มีระบบการกักแยกโรคที่บ้าน (home isolation) เฉพาะสำหรับประชากรที่ผลตรวจเป็นบวกชัดเจนแต่เป็นกลุ่มที่น่าจะจัดการตัวเองได้เพียงพอที่จะทำการเว้นระยะห่างทางกายภาพในครัวเรือน จนทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อในครัวเรือนและในชุมชนได้ไม่มาก เพื่อดึงเตียงโรงพยาบาลกลับไปให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการตัวเองได้และตอนนี้ยังเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล

3) ไม่ควรกระจายวัคซีนเป็นเบี้ยหัวแตกไปทั่วประเทศ ในสถานการณ์ล่าสุดนี้เพราะอย่างไรก็ตามด้วยจำนวนและประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระยะสั้นได้ อย่างน้อยที่สุด หากเรายังต้องการเร่งฉีดวัคซีนที่เหลืออยู่ให้พื้นที่ระบาดหนัก (เช่น กทม.และปริมณฑล) ในขณะเดียวกันเราก็จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพื่อป้องกันประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อื่นที่ยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย

4) อาจจำเป็นต้องมีการใช้นโยบายล็อกดาวน์ “ระยะสั้น” เฉพาะในพื้นที่ระบาดหนัก (เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล) และทำเป็นครั้งคราว แต่ต้องปรับให้เป็นการล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ให้เหลือโอกาสที่ทำไม่ได้จริงตามแผนที่วางไว้ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถทำตามมาตรการล็อคดาวน์ในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ทิ้งใครให้ต้องเผชิญปัญหาในการดำรงชีวิตแต่เพียงลำพัง

ท้ายที่สุดข้อเสนอมาตรการที่กล่าวถึงข้างต้นจะไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้เต็มที่หากไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS