“นายจ้าง” สะท้อน พร้อมซื้อวัคซีนให้ลูกจ้างแต่ติดปัญหาระบบจัดสรร เสนอรัฐบาล “ตรวจเชิงรุกแคมป์คนงาน” แก้ปัญหาให้จบภายใน 1 เดือน
วันนี้ (2 ก.ค. 2564) ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก พร้อมด้วย ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการสิทธิมนุษยชนปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้างย่านสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ภายหลังจากมีคำสั่งให้หยุดก่อสร้างในแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลา 30 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา
มานพ สารสุวรรณ์ ผู้จัดการไซต์งานบริษัทนินนา ได้เข้าพูดคุยโดยได้ระบุว่า แคมป์คนงานแห่งนี้เป็นที่พักคนงานก่อสร้างของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และครอบครัวประมาณ 400 คน มีเด็กกว่า 50 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานเพื่อนบ้านจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว หลังมีคำสั่งปิดแคมป์เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ฯ ได้จัดข้าวกล่องและข้าวสารอาหารแห้ง ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับคนงาน ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ
นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังก่อสร้างโรงพยาบาลสนามภายในแคมป์ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหากมีคนงานหรือคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 16 เตียง ในฐานะนายจ้างอยากให้รัฐบาลมีมาตรการตรวจเชิงรุกให้แก่คนงานก่อสร้างและคนในครอบครัวทุกคนในช่วง 1 เดือนที่มีประกาศปิดแคมป์คนงาน พร้อมจัดสรรวัคซีนให้โดยเร็ว เพื่อให้หลังจากนี้สามารถกลับไปทำงานได้
“ผมอยากผลักดันให้มีการตรวจเช็กโควิด-19 เชิงรุก กับคนงานทุกคนที่พักอยู่ในแคมป์ให้จบไปเลยภายใน 1 เดือน เราหยุดงานอยู่แล้ว ไม่ได้ทำงานอยู่แล้ว จะได้ตรวจกันไปให้จบ แล้วก็ขอให้จัดหาวัคซีนให้ได้ฉีดโดยเร็วบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์พร้อมจ่ายค่าวัคซีนซิโนฟาร์มให้คนงาน แต่ปัญหาคือยังไม่มีวัคซีนให้ฉีด อยากผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นเร่งด่วนที่สุด พวกเราจะได้มีความปลอดภัยและทำงานได้”
ด้าน ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับฟังและสอบถามข้อมูลจากคนงานก่อสร้างและคนในครอบครัวเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนถึงความกังกลกรณีขาดรายได้ในช่วงที่ต้องหยุดงานนานถึง 1 เดือน โดย กสม. มีแนวทางจะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองช่วยเหลือแรงงาน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น และจะศึกษาภาพรวมเพื่อทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล
“เราได้เห็นชัดเจนว่าแคมป์คนงาน ไม่ได้มีเฉพาะคนงานอย่างเดียว แต่มีเด็กมีผู้หญิงอยู่ในนี้ด้วย ในแคมป์ที่เรามาวันนี้ค่อนข้างจะเป็นแคมป์ตัวอย่างการจัดการที่ดี ซึ่งเรามีข้อมูลในระดับหนึ่งว่ายังมีแรงงานต่างด้าว แรงงานเพื่อนบ้าน ที่ยังมีปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียน เฉพาะ กทม. มีแคมป์คนงานก่อสร้างประมาณ 500 แคมป์ อาจมีปัญหาอยู่สัก 2-3 แสนคน กระบวนการขึ้นทะบียนต่าง ๆ ได้ข่าวว่าต้องใช้เงินส่วนตัวแต่ละคนเยอะ นี่ก็เป็นข้อมูลที่จะเก็บรวบรวม แล้วทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และการดูแลช่วยเหลือแรงงาน ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย”
ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาในแคมป์คนงานก่อสร้าง ว่าตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในแคมป์แห่งนี้มีเด็กที่ได้เรียนในระบบโรงเรียนจำนวน 9 คน ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์เหมือนเพื่อนเนื่องจากขาดเครื่องมือสื่อสาร และครอบครัวไม่สามารถสอนลูกหลานที่บ้านได้ ส่วนเด็กที่เหลือ มูลนิธิฯ เคยสามารถเข้ามาช่วยจัดการเรียนรู้ได้ แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้กระบวนการดังกล่าวหยุดชะงัก ซ้ำเติมด้วยปัญหาปากท้องที่กระทบต่อภาวะโภชนาการต่อเนื่องยาวนานเข้าปีที่ 2 ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนกระทบกับสิทธิเด็ก
โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับปากว่าจะเร่งนำปัญหาที่ได้รับการสะท้อนในวันนี้ รวบรวมนำเสนอเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด และหากมีข้อร้องร้องเรียน กสม. มีกลไกกรอบเวลาภายใน 120 วัน ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี รัฐบาล และรัฐสภา จะรวบรวมรายงานต่อไป