คาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แท้จริงน่าจะมากกว่าปัจจุบัน ชี้ ต้องเร่งตรวจปูพรมเชิงรุก ค้นหา แยกกัก ทำ Home Isolation พร้อมจับมือ สปสช. – สปคม. ตั้งเป้าระดมตรวจให้ได้วันละ 10,000 คน ถึงปลาย ก.ค. 64
13 ก.ค. 2564 – นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากและความต้องการตรวจหาเชื้อก็มีจำนวนมาก แต่บริการตรวจมีไม่เพียงพอ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายชัดเจนให้ใช้การตรวจแบบ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งจะรู้ผลเร็วกว่าการตรวจแบบ RT-PCR
สปสช. ร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกตามพื้นที่ต่าง ๆ ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งหากว่าผลตรวจเป็นบวกและอาการไม่รุนแรงก็จะให้ดูแลที่บ้าน (Home isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) ภายใต้การดูแลของแพทย์ประจำครอบครัวหรือแพทย์ที่อยู่ในระบบปฐมภูมิ ในคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือศูนย์บริการสาธารณของ กทม. ซึ่งรูปแบบนี้ใช้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น
“นพ.จเด็จ” กล่าวอีกว่า การให้ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงดูแลที่บ้าน ก็เพื่อเก็บเตียงในโรงพยาบาลให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้ที่มีโรคอ้วน มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น เพราะคนกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ให้ดูแลอยู่ในบ้านไม่ออกไปไหน มีอาหารให้วันละ 3 มื้อ โดยทางคลินิกชุมชนอบอุ่นจะมีเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน มีแพทย์วิดีโอคอลติดตามอาการวันละ 2 ครั้งเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล เวลาทำวิดีโอคอลก็จะดูว่าอุณหภูมิร่างกายเท่าไร ระดับออกซิเจนในเลือดเท่าไร ถ้าออกซิเจนในเลือดลดลงถึงในระดับอันตราย ก็จะมีรถพยาบาลไปรับตัวมาเอกซเรย์ปอด หากเป็นปอดบวมก็อาจจะต้องย้ายเข้ามารักษาในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ในเรื่องของยาก็จะจ่ายยาให้เร็วขึ้นเพราะเชื่อว่าการจ่ายยาทันทีจะสามารถลดการเปลี่ยนแปลงอาการจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองไปได้มาก แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรงก็จะให้ไปนอนโรงพยาบาลทันที
“ตอนนี้เรามีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 200 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ ก็ใช้กลไกตรงนี้ก่อน แล้วถ้าหากมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอาจจะใช้คลินิกที่มีอยู่ที่ไม่ใช่คลินิกชุมชนอบอุ่นด้วยก็ได้ เพราะว่าในกรุงเทพฯ มีคลินิกทั่วไปในประมาณ 5,000 แห่ง”
ส่วนของผู้ที่ตรวจแล้วผลเป็นบวกแล้วอยากเดินทางกลับไปรักษาในภูมิลำเนา สามารถโทรมาสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง สปสช. จะมีรถบัสเตรียมไว้ส่งตัวผู้ป่วยทั่วประเทศและช่วยประสานโรงพยาบาลปลายทางให้ รวมทั้งไม่แนะนำให้เดินทางโดยรถสาธารณะไปเอง เพราะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ดังนั้น ถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสามารถโทรมา 1330 ได้เลย
ยิ่งตรวจ ยิ่งเจอ!
จากอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า ประกอบกับข้อติดขัดที่ห้องแล็บหรือโรงพยาบาลไม่สามารถตรวจให้ประชาชนทั่วไปได้เพราะเตียงเต็ม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่จำนวนการตรวจมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับจำนวนการติดเชื้อที่มากขึ้น
กรณีนี้ ศ.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คาดการณ์ว่าถ้าตรวจกันเต็มศักยภาพจริง ๆ น่าจะพบอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่านี้
ศ.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า วันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการเริ่มดำเนินการวันแรกซึ่งที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ มีผู้เข้ารับการตรวจ 709 คน ทั้งจากคนที่ลงทะเบียนเข้ารับการตรวจออนไลน์และคนที่วอล์กอินเข้ามา พบผลเป็นบวกหรือติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 53 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มไม่มีอาการ โดย สปสช. จะจับคู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนต่อไป และในวันที่ 13 ก.ค. ได้เพิ่มการตรวจเป็นประมาณ 1,500 ราย และทางคณะฯ ก็พยายามจะเพิ่มจำนวนการตรวจให้ได้มากขึ้นอีกในวันต่อ ๆ ไป เพราะขณะนี้ก็มีประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้ามาแล้วกว่า 10,000 คน โดย สปสช. จะจัดสรรโควตาในแต่ละวัน แล้วแจ้งผู้ที่เข้ามาตรวจว่าต้องมาวันไหน เวลาไหน
“แคมเปญนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือถึงประมาณปลายเดือน ก.ค. นี้ อย่างไรก็ดี ทั้ง สปคม. และ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ร่วมปูพรมตรวจเชิงรุกแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ตรวจในลักษณะนี้ด้วย ซึ่งก็คาดหวังว่าถ้าสามารถตรวจได้เป็นแสน ๆรายต่อวัน ก็น่าจะค้นพบผู้ติดเชื้อและแยกกักตัวในลักษณะ Home Isolation เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ส่วนผู้ที่อาการปานกลางหรือรุนแรงก็จะมี 1330 ช่วยจัดหาโรงพยาบาลให้ และน่าจะช่วยให้การระบาดมีแนวโน้มที่ลดลง”
ไปตรวจที่ไหนได้บ้าง ?
คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เพิ่มจุดตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจโควิด-19 แอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) หรือ Rapid Antigen Test ใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ รู้ผลใน 30 นาที ตรวจโดย สปคม. รับวอล์กอินหน้างานจุดละ 1,500 คนต่อวัน มี 3 จุดตรวจ ดังนี้
- สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดย สปคม.
ตั้งแต่วันที่ 12 – 28 ก.ค. 2564 (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น. - สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) เขตบางกะปิ กทม. โดย สปคม. ตั้งแต่วันที่ 12 – 22 ก.ค. 2564 (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น.
- ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ตรวจทุกวันตั้งแต่วันที่ 12 – 30 ก.ค. 2564 (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์) เวลา 8.00 – 16.00 น.
โดยทั้งหมดสามารถจองคิวผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ แบบฟอร์มแสดงความประสงค์เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ด้วยวิธีตรวจแอนติเจน (Rapid Antigen Test) พร้อมให้เตรียมบัตรประชาชนตัวจริงไปด้วย หากผลเป็นบวก (ติดเชื้อโควิด-19) จะจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนทันที