ฝนตกต่อเนื่องถึง 3 ส.ค. 64 ดินชุ่มน้ำ เสี่ยงน้ำหลาก ล้นตลิ่งสูง! เหนือ อีสาน ตะวันออก มากสุด

อุตุฯ เตือน เสี่ยงน้ำหลากและท่วมในหลายพื้นที่ ‘กอนช.’ คาด น้ำล้นตลิ่งบริเวณลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำ โดยเฉพาะ ห้วยแม่ตื่น ลำน้ำว้า จากอิทธิพล “เจิมปากา”

28 ก.ค. 2564 – กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2564 หลายพื้นที่จึงเสี่ยงเกิดน้ำหลาก และท่วม

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. รายงานว่าในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2564 จะมีพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม หลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน สระแก้ว จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี เพชรบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณลุ่มต่ำใกล้กับแม่น้ำ โดยเฉพาะ ภาคเหนือ บริเวณห้วยแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, ลำน้ำว้า อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน, แม่น้ำยวม อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, แม่น้ำเมย อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และลำน้ำแควน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลำน้ำยัง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ ภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

ด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และให้แจ้งเตือนประชาชนให้ทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ หากจุดไหนมีความเสี่ยงขอให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้หากเกิดสถานการณ์

แม้พายุโซนร้อน “เจิมปากา” ช่วง 20 – 27 ก.ค. ที่ผ่านมา จะไม่ได้กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งนับว่าส่งผลดี ทำให้มีน้ำไหลลงแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลเข้าจริง จำนวน 2,032.05 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 197.58 ล้านลูกบาศก์เมตร

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์