“หมอชนบท” แนะ กทม. ต้องเป็นแกนกลาง ระดมคน ทลายข้อจำกัดบุคลากรไม่พอ “อาสาสมัคร” เสนอใช้เงินกู้สู้โควิด-19 จ้างงาน และลดขั้นตอนให้มากที่สุด
หลังสิ้นสุด ปฏิบัติการสู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 โดย “ชมรมแพทย์ชนบท” และภาคีภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เกิดคำถามว่าแนวทางรับช่วงต่อของ กทม. และหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะเข้าถึงการตรวจเช่นนั้นได้อีกหรือไม่ หรือต้องรอการช่วยเหลือแบบนี้ไปโดยตลอด
กลับไปแล้ว ยังห่วงทั้งคนที่ตรวจและไม่ได้ตรวจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าปฏิบัติการครั้งนี้ถือว่าใช้พลังงาน และเหนื่อยมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ถึงแม้จะสิ้นสุดภารกิจ และเดินทางกลับมาแล้ว แต่ยังมีความเป็นห่วงคนที่เข้ารับการตรวจ ว่าจะมีอาการเป็นอย่างไร จากการติดตามผู้ป่วยที่ตรวจด้วยตัวเองหลายคนพบว่า อาการน่าเป็นห่วง บางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงอดห่วงไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ระบบการรักษาอาจไม่สามารถเข้าถึงพวกเขาเหล่านั้นได้
และสำหรับคนที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้ารับการตรวจ ก็ยังฝากความหวังตามมา ว่าจะกลับมาอีกหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้เองคงต้องฝากเป็นการบ้านหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะ กทม. ว่าจะสามารถจัดการพื้นที่ของตัวเองต่อไปอย่างไร หวังว่าการลงพื้นที่ไปทำให้เห็นแบบอย่าง จะไม่สูญเปล่า
“ในทรรศนะของผมมองว่าระบบใหญ่ยังต้องการเวลาในการปรับตัวอีกมาก มันคงไม่ง่าย ปฏิบัติการจรยุทธ์แบบเรานั้น ใช้หัวใจเข้าทำงาน ไม่ใช่การทำงานเชิงระบบอย่างในกรุงเทพฯ”
นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่ที่พบคือ “ระบบไม่สามารถช้อนคนได้หมด” หมายความว่าเมื่อมีคนตรวจพบเชื้อแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งเข้าไปในระบบถังกลางของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และหลังจากนั้นจะต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแล ทั้งเรื่องของยารักษา อาหารการกิน และเมื่ออาการรุนแรงจะประสานหาเตียงได้อย่างไร ยอมรับว่าตอนนี้ยังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่ในระบบนับหมื่นคน ที่ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ ปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน แต่สิ่งสำคัญคือระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ไม่สอดคล้องกับการดูแลประชาชนตามบ้านเรือน และในชุมชนเช่นนี้
ในต่างจังหวัดทุกอำเภอจะมีโรงพยาบาล และทุกตำบลจะมี รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) แต่ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ทุกเขตที่จะมีโรงพยาบาล เมื่อระบบสาธารณสุขฐานราก มีไม่ครอบคลุมกับจำนวนประชากร จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข เมื่อจำนวนผู้ป่วยรายวันทะลุมาถึงระดับสองหมื่นคนต่อวัน เตียงในโรงพยาบาลจึงไม่เพียงพอ บุคลากรที่มีจำนวนจำกัด จึงเข้าสู่ระบบ “ตามยถากรรม” ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น แนวทางที่ทำได้คือต้องเร่งตรวจเชิงรุกให้มากที่สุด และจ่ายยาให้กับกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงในทันที เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยรอการช่วยเหลือที่บ้าน กระทั่งร้ายแรงถึงเสียชีวิตคาบ้านในที่สุด
อาสาสมัคร แนะลดขั้นตอนหน้างาน ใช้เวลาให้น้อยที่สุด
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะอาสาสมัครภาคประชาชนที่เข้าร่วมภารกิจตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย มองทะลุปัญหาหน้างานที่ทำให้ใช้เวลานานนั้น คือ “สารพัดการลงทะเบียน” ตั้งแต่ลงทะเบียนกับแกนนำชุมชนซึ่งเป็นการจองคิวตรวจล่วงหน้า ลงทะเบียนเพื่อเข้าระบบออนไลน์ของ สปสช. ลงทะเบียนเพื่อรับอุปกรณ์ในการตรวจหาเชื้อ ATK และถ้าผลออกมาพบว่าติดเชื้อ และประเมินแล้วว่าสมควรได้รับยา ก็ต้องลงทะเบียนรับยาไว้ด้วย หรือหากต้องเอกซเรย์ปอด ก็ต้องลงทะเบียน หรือแม้แต่กระทั่งไม่ติดเชื้อ บางคนอาจต้องลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนด้วยเช่นกัน
โดยส่วนตัวแล้วเข้าใจระบบการทำงานว่าทรัพยากร ทั้งยา และวัคซีนนั้นอาจมาจากหลายที่ หลายหน่วยงาน จึงต้องมีหลักฐานและข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งหากเป็นไปได้ที่จะมีหน่วยงานกลางเพียงหน่วยงานเดียวทำข้อมูลและกระจายทรัพยากรตรงนี้ ทำให้เกิดการลงทะเบียนผ่าน “บัตรประจำตัวประชาชน” เพียงอย่างเดียว คิดว่าจะสามารถลดระยะเวลาได้ถึง 3 เท่า
“เราเห็นภาพตรงกันว่า ต้องไม่ให้คนรอนาน เพราะมีคนติดเชื้อในจุดตรวจ 15-20% ยืนปะปนกันอยู่ และไม่รู้ว่าใครบ้าง หากรอนาน ยืนอัดกัน เบียดกัน ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้ เราจึงอยากให้กระบวนการมันเร็วขึ้น”
ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า มีความคาดหวังว่าอาสาสมัครที่มาช่วยงานในแต่ละวันจะเพียงพอหรือไม่ เพราะมีข้อจำกัดมากกว่างานอื่น ๆ ข้อแรก คือเรื่องความกังวลว่ามาช่วยแล้วจะติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีคำแนะนำ และอุปกรณ์ป้องกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้อาสาสมัคร และ ข้อที่สอง คือ กังวลว่าจะสามารถทำงานได้หรือไม่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมา ทุกเรื่องสามารถทำได้ หากได้รับการฝึกฝน และตั้งใจเรียนรู้ก็สามารถทำได้
เห็นพ้องระดมอาสาสมัครเพิ่มขึ้น ใช้งบฯ เงินกู้จ้างงานคนเดือดร้อน
นพ.สุภัทร กล่าวว่าภารกิจครั้งนี้อาสาสมัครภาคประชาชน เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จที่เกิดขึ้น ชื่นชมในพลังความร่วมมือภายใต้สถานการณ์ที่โกลาหล สามารถจัดการกับคนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี และเมื่อพิจารณาจากปัญหาที่กรุงเทพฯ เผชิญอยู่ คือข้อจำกัดด้านบุคลากร การระดมอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ
“เราไม่จำเป็นต้องผูกขาดการ Swap กับวิชาชีพสุขภาพ รวมถึงการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ในสถานการณ์สงครามแบบนี้ มันต้องเปิดโอกาสให้มีคนมาช่วยกัน”
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ การอ่านผลตรวจ การจ่ายยา การประเมินอาการ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น หากมีการจัดอบรมกัน ใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถทำได้แล้ว และเมื่อมีการอบรมแล้ว ก็สามารถกระจายทีมลงสู่ชุมชน โดยอาจจะมีแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความรู้เป็นที่ปรึกษาประจำทีม เพื่อคอยตัดสินใจในเรื่องที่อาจต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์เท่านั้น
เช่นเดียวกับ ยิ่งชีพ กล่าวว่าในระยะแรกที่มาทำงานอาสาสมัคร งานหลายอย่างนั้นตนไม่กล้าทำ เนื่องจากไม่มีความรู้ แต่เมื่อสถานการณ์คับขัน มีประชาชนเข้ารับการตรวจจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องช่วย เพื่อให้งานสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งเชื่อว่าถึงแม้ไม่ใช่ตน แต่ใครก็ตามที่อยู่ในจุดนั้นก็สามารถทำได้เช่นกัน
“วันแรกไม่อยากทำเลย ใจไม่กล้าพอ แต่พอมีคนเยอะขึ้น ก็ต้องเสนอตัวเข้าไปช่วย ให้คุณหมอสอนนิดเดียวก็ทำได้แล้ว ประชาชนทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้”
ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่าหากสามารถใช้งบประมาณจ้างงานอาสาสมัครให้มาช่วยงานได้ด้วย จะได้ประโยชน์สองต่อ การตรวจเชิงรุกสามารถขับเคลื่อนได้ และคนตกงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งหากดูจากงบฯ เงินกู้นั้น ส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อการเยียวยา แต่หากเราให้เป็นค่าตอบแทนการทำงานจะได้ประโยชน์มากกว่า ในอัตราเดือนละ 15,000 บาทต่อเดือน ถือว่าช่วยเหลือประชาชนได้มาก และอาสาสมัครก็จะมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
กทม. ต้องเป็นแกนกลาง บูรณาการจัดทีมลงชุมชน
นพ.สุภัทร กล่าวว่า กทม. ต้องทำหน้าที่เป็นแกนกลางคอยบริหารภารกิจตรวจเชิงรุกต่อไป จัดทีมตรวจเชิงรุกซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัคร ทีมละประมาณ 10 คน ตรวจให้ได้วันละ 200 – 500 คนต่อวัน ถือว่าเพียงพอแล้ว เมื่อหมุนเวียนลงไปในทุกชุมชน จะสามารถทำให้หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้
นอกเหนือจากนั้นต้องจัดหาทรัพยากรทั้งชุดตรวจ ยาฟาวิพิราเวียร์ รวมถึงวัคซีนมาให้เพียงพอ และทำให้จบในครั้งเดียว เพราะอย่างไรก็ตาม กระบวนการเช่นนี้ยังคงต้องทำต่อไปในระยะยาว จากการประเมินอัตราการฉีดวัคซีน และปัจจัยอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังอาจเกิดการแพร่ระบาดได้เสมอ สิ่งที่ทำได้เฉพาะหน้าคือการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ เราจะจัดการเรื่องอื่นต่อไปไม่ได้
ด้าน ยิ่งชีพ มองว่าโมเดลนี้จะเกิดขึ้นได้ ควรได้รับการมอบนโยบายจาก ศบค. ส่วนกลางอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้ที่พร้อมเข้ามาสนับสนุนการตรวจ สามารถทำได้โดยไม่ต้องกังวลในข้อจำกัดด้านระเบียบกฎหมาย ซึ่งหากรัฐบาลและหน่วยงานอย่าง กทม. เอาด้วย สามารถช่วยให้คนทำงานสบายใจมากขึ้น
แน่นอนว่าการมาของ “แพทย์ชนบท” สร้างต้นแบบของความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อการตรวจเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีการตรวจเชิงรุกจะต้องรอเพียงกลุ่มแพทย์ชนบทเท่านั้น รูปแบบความร่วมมือที่เกิดขึ้นตลอดการลงพื้นที่ 3 ครั้งนั้น เพียงพอแล้วต่อการสานต่อของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ทรัพยากรและบุคลากรของตนเอง เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดในเมืองหลวงให้ได้ด้วยตนเอง