“เด็กเรียนออนไลน์” เสี่ยงอ้วน! พบปัญหากินขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลมมาก

สสส. เผย เด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนสูงขึ้น ชี้ ช่วงเรียนออนไลน์ที่บ้าน กินขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลมมาก แนะผู้ปกครอง อย่าละเลยเรื่องกิน-เล่น จัดเมนูอาหารและเครื่องดื่มตามหลักโภชนาการ ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 20 บาท ให้คุ้มประโยชน์สูงสุด

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เผยผลสำรวจ จากรายงานคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ปี 2560 -2563 ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กวัยเรียนอายุตั้งแต่ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2563 เด็กวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนถึงร้อยละ 12.50 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

นพ.ไพโรจน์ ระบุว่า การเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพของเด็ก ๆ อย่างมาก โดยเฉพาะการกิน การเล่น หากไม่มีการจัดการที่ดี เด็กจะกินอาหารที่มีไขมันสูง ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นตลอดทั้งวัน รวมทั้งขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือขยับเขยื้อนร่างกายน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเกิดภาวะอ้วนตามมาได้

“การไปโรงเรียนทำให้เด็กได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ชนบท หรือมีฐานะยากจน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กไม่ได้รับประทานอาหารที่โรงเรียน อาจจะทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพอาหารและโภชนาการที่เด็กควรจะได้รับ รวมทั้งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ อาจทำให้บางครอบครัว ไม่สามารถซื้อ หรือปรุงอาหารที่ดีมีประโยชน์ตามที่ต้องการได้ และอาจมีการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็ก”

จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส สสส. กล่าวว่า โครงการเด็กไทยแก้มใส ร่วมกับ สสส. จัดทำแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการจัดอาหารที่มีคุณภาพสำหรับเด็กวัยเรียนช่วงเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพราะตระหนักถึงความสำคัญของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ต้องการอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 3 มื้อ เพื่อการเติบโตอย่างสมวัย เกิดพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ที่ดี มีความแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย  สำหรับนโยบายที่โรงเรียนจัดสรรเงินค่าอาหารกลางวัน  20 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อให้พ่อแม่จัดหาหรือซื้อหาอาหารมื้อกลางวันให้เด็กกินเองนั้น มีความจำเป็นต้องสร้างความรู้และทักษะให้กับพ่อแม่และเด็กในการเลือกซื้อและกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย

จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี

            “เครือข่ายโครงการเด็กไทยแก้มใส เสนอแนวทางการให้ความรู้ทางโภชนาการกับผู้ปกครอง ในรูปแบบง่ายๆ เพื่อให้ข้อมูลว่า แต่ละวันควรทำอาหารอะไรให้เด็กกินบ้าง โดยออกเป็นคำแนะนำจากโรงเรียน ในการดูแลอาหารสำหรับเด็ก ซึ่งมีเมนูอาหารหลากหลาย สามารถเลือกจัดอาหารตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน เพื่อให้การจัดการเงินค่าอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคนต่อวัน ที่ให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด โดยพ่อแม่ที่ต้องจัดทำ หรือซื้ออาหารให้ลูก ควรยึดหลักตามที่โรงเรียนมีคำแนะนำ แต่หากจะให้เงินลูกไปซื้ออาหารกินเอง ต้องคอยดูแลให้ลูกเลือกซื้ออาหารสะอาด ปลอดภัย และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำหวาน เป็นต้น”

ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ  แนะนำต่อไปว่า อาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยที่ผู้ปกครองควรจัดให้เด็กนักเรียน คือ 1.จัดอาหารครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ไม่ติดมัน ไข่ นม และถั่วเมล็ดแห้ง ผักผลไม้ น้ำมันพืช 2.จัดอาหารที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินดี สังกะสี และซิลีเนียม เช่น ผักคะน้า พริกหวาน ชะอม หอมหัวใหญ่ ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะละกอ กล้วย มะปราง มะขามป้อม เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ตับ ปลาทู ปลา กุ้ง ไข่ไก่ ไข่เป็ด 3.ส่งเสริมให้เด็กได้กินผักผลไม้หลากหลาย ทุกวัน ๆ ละ 300-400 กรัม (อนุบาล 175 กรัม/วัน ประถมศึกษา 350 กรัม/วัน มัธยมศึกษา 400 กรัม/วัน หรือ มื้อละ 1-2 ทัพพี) ตามวัยของเด็ก เพื่อเพิ่มวิตามิน แร่ธาตุ 4.หลีกเลี่ยงการใช้อาหารสำเร็จรูป การเติมผงชูรส ผงปรุงแต่งรส อาหารที่มีสีฉูดฉาด กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ควรเพิ่มไข่ เลือด ตับ ผักใบเขียว เพื่อเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นจำพวกโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินเอ รวมทั้งแนะนำให้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวันในการปรุงประกอบอาหาร และ 5.ปลูกฝังการกินอาหารรสจืด ไม่หวาน มัน เค็ม ไม่เติมน้ำปลา/น้ำตาลเพิ่มในอาหาร และส่งเสริมการดื่มน้ำสะอาด และนมรสจืด (2 กล่อง/วัน)

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม