4 พันธมิตรสื่อ “The Active – Voice TV – workpointTODAY – The MATTER” ถ่ายทอดประสบการณ์จัดเวทีถกเถียง ชวนเข้าร่วมโครงการ Thailand Talks จับคู่คนเห็นต่าง หวังเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเข้าใจ และวัฒนธรรมยอมรับความเห็นต่างในสังคมไทย
สื่อมวลชน ถือเป็นอาชีพที่ต้องให้ความสำคัญกับทุก “ความเห็น” และนำเสนอเพื่อให้สังคม “ตัดสินใจ”
สื่อมวลชน จาก 4 สำนัก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความเห็นต่าง ว่าในมุมมองของสื่อมวลชน การพูดคุยกันของคนเห็นต่าง จะมีประโยชน์ในแง่ไหนต่อสังคมไทยได้บ้าง
ประสบการณ์สร้างความเข้าใจกับคนเห็นต่าง ?
“ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในจุดที่สามัคคีกัน เรามีความเห็นต่างที่ฝังรากลึก แต่เราต้องเริ่มทดลองสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยน ถกกัน ให้เก่งขึ้น ไม่ต้องเห็นด้วยกับใคร แต่เพื่อฝึกทักษะการแสดงออกให้ดีขึ้น”
นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY เริ่มต้นด้วยคำพูดที่ชวนคนไทยทุกคนมองสภาพความสัมพันธ์ของคนในสังคม ความคิดเห็น และการโต้เถียงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สะท้อนว่าสังคมไทย ‘ไม่ได้สามัคคีกันทุกเรื่อง’ และที่มากไปกว่านั้น เรามีความขัดแย้งที่ฝังรากลึกยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
ที่เห็นได้ชัดคือเรื่อง ‘การเมือง’ ตนและทีมงานเคยมีโอกาสจัดช่วงรายการ ‘ถกกันให้เก่งขึ้น’ ทาง workpointTODAY โดยตั้งใจเชิญ 4 พรรคการเมือง มาดีเบตกันในรายการกับประเด็นหัวข้อที่ทุกฝ่ายล้วนเห็นไม่ตรงกัน
ผลที่ได้ คือ เนื่องจากแขกรับเชิญอาจจะเป็นนักการเมือง ซึ่งแต่ละคนจะเต็มไปด้วยทักษะการถกเถียงและแสดงความเห็นอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น วัฒนธรรมการถกเถียงไม่ได้ถูกปลูกฝังกันมาในสังคมได้ และการถกเถียงเป็นสิ่งที่ต้องฝึก เหมือนกับการพูดหน้าชั้นเรียนสมัยยังเด็ก ไม่มีใครทำได้อย่างคล่องแคล่วตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ เมื่อได้พูดคุยกับคนเห็นต่าง จะแสดงออกต่อกันอย่างไร เพื่อรักษาบรรยากาศการแลกเปลี่ยนให้ดีที่สุด เพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษา ใช้คำพูดที่เหมาะสม แม้การพูดคุยนั้นจะเห็นไม่เหมือนกันก็ตาม
“คาดหวังว่า Thailand Talks จะช่วยให้ไม่มีใครต้องถูกทุบรถ ถูกจำคุก เพียงแค่เขาเห็นต่าง อย่างที่ Voice เคยเจอ เราต้องเชื่อว่าทุกคนเห็นต่างกันได้ บนหลักการและเหตุผลของตนเอง”
ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป Voice TV บอกเล่าประสบการณ์การทำข่าวของ Voice ที่ผ่านมาว่า การรายงานข่าวท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด เมื่อมีคนมากกว่า 1 คนที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น และทาง Voice เอง ให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมือง และการลงพื้นที่เข้าสู่กลุ่มผู้ชุมนุมมาโดยตลอด ไม่ว่ากลุ่มนั้นจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ ผลที่ได้รับ คือ การรายงานข่าวในกลุ่มที่เห็นไม่ตรงกับเรา เกิดการทุบรถข่าว เอาก้อนหินปาใส่ เพียงเพราะกลุ่มนั้นไม่ชอบในวิธีนำเสนอของเรา
ในขณะที่ปัจจุบันนี้ สถานการณ์ตรงข้ามกัน เมื่อผู้สื่อข่าวของ Voice รายงานท่ามกลางการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ผู้ชุมนุมกลับหลีกทาง ต้อนรับ และอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี ในขณะที่ความคิด อุดมการณ์ในการทำข่าวของ Voice ยังเหมือนเดิม แต่การปฏิบัติต่างกัน อยู่ที่ว่าผู้นั้นคิดเห็นอย่างไร แต่คำถามคือ ไม่สมควรมีใครถูกกระทำเพราะมีความคิดเห็นที่ต่างกันเท่านั้น ใช่หรือไม่ ?
ฤทธิกร กล่าวต่อว่า หากใครที่เคยติดตามรายการผ่านทาง Voice TV จะพบว่าแม้แต่ พิธีกร และผู้ดำเนินรายการยัง ‘เห็นต่างกัน’ พอพูดเรื่องความเห็นต่าง Voice เชื่อในความเห็นต่าง ผู้ดำเนินรายการ พิธีกร โต้เถียงกันออกอากาศ เขาไม่ได้ทะเลาะ ทุกคนมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน และทุกคนมีหลักการและเหตุผล สนับสนุนความคิดความเชื่อนั้น เปิดโอกาสให้เขาได้แสดง และร่วมวิเคราะห์ปัญหาไปพร้อมกัน
“ประเทศไทยค่อนข้างมีอคติกับคำว่า Debate(ถกเถียง) จะดูน่ากลัวมาก รู้สึกว่าตัวเองจะเสียเปรียบ ถ้าเถียงกันแล้วแพ้ แต่พอใช้คำว่าถกแถลง แลกเปลี่ยน จะเปิดโอกาสให้คนที่มีมุมมองต่างกัน มาแลกเปลี่ยนกัน”
อรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการข่าว The Active (ThaiPBS) มองว่าสิ่งที่ทำให้บรรยากาศของการถกเถียงเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย คือ คนไทยมักมีอคติกับคำนี้ แต่หากใช้คำอื่นในความหมายเดียวกัน อาจให้ความรู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้คนกล้าแสดงความคิดเห็น หรือพูดคุยกับคนเห็นต่างมากขึ้น
อรุชิตา ยกตัวอย่างว่า เคยมีโอกาสเปิดพื้นที่พูดคุยในประเด็นที่คนในสังคมเห็นไม่ตรงกัน อย่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ใช้ชื่อว่า สาระประชามติ สะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็น เพราะข้อจำกัดจากกฎหมายพิเศษที่ออกมาควบคุม แต่หากสื่อยังทำหน้าที่ได้ นอกจากนำเสนอความพยายามใช้เสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ ก็คือการเชิญคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน มาพูดคุยกัน ทำให้ชุดข้อมูลปรากฏออกมาได้ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ถูกปกคลุมด้วยความคิดเห็นทางการเมืองและเพราะยืนอยู่คนละขั้ว จนทำให้ไม่เปิดใจพูดคุยซึ่งกันและกัน
“แม้เรื่องเล็ก ๆ เราก็เถียงกันได้ ทุกมิติมีประเด็นให้แสดงความเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจกัน สังคมไทยไม่ค่อยฝึกให้คุยกัน เราควรเริ่มจากเรื่องเล็กน้อย จนนำไปสู่เรื่องที่สำคัญกับชีวิต และประโยชน์สาธารณะ”
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER มองว่าการถกเถียงกันทำได้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว เช่น มื้อเที่ยงจะทานอะไรกันดี หรือจะทำงานในรูปแบบใดดี เพราะทุกเรื่องมีมิติที่สามารถพูดคุยกันได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องทะเลาะกัน หากเราเริ่มด้วยเรื่องเล็ก ๆ จะสามารถทำให้กล้าแสดงความคิดเห็น และทำความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เมื่อขยับไปเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศ หรือประโยชน์ที่เกี่ยวกับสาธารณะ ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้
The MATTER เคยตั้งประเด็นถกเถียงเรื่อง ‘ยกเลิกโทษประหาร’ ซึ่งมีความคิดเห็นที่หลากหลายมาก สื่อทำหน้าที่เพียงตั้งประเด็น และสนับสนุนข้อมูลทุกด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยที่ไม่ต้องชี้นำความคิดของใคร และข้อมูลที่นำเสนอ จะนำพาประเด็นไปถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันตามความสนใจของสังคมเอง
ทำไมเราต้องคุยกัน ในเมื่อเห็นไม่ตรงกัน ?
‘คุยเพื่อฝึกตัวเอง’ นภพัฒน์จักษ์ มองว่าบรรยากาศในประเทศไทยไม่ได้เอื้อให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุย เนื่องจากเรามีหลายประเด็นที่เป็นความเชื่อที่แตะต้องไม่ได้ แม้แต่กระทั่งขนบธรรมเนียมขององค์กรต่าง ๆ ก็ยึดถือเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน แต่ตนมองว่าหากอยู่ในวัฒนธรรมเช่นนี้นานเข้า อาจ ‘กัดกินความเป็นตัวเอง’ มนุษย์ควรมีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่ตนอยากแสดงออก และต้องไม่มีใครถูกคุกคามเพียงเพราะแสดงความคิดเห็น การคุยจึงเป็นการฝึกตนเอง
การรักษาบรรยากาศของการพูดคุย แม้จะเห็นต่างกัน เป็นทักษะสำคัญที่ต้องมีการฝึกฝน การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง บนบรรยากาศแบบขั้วตรงข้าม ต้องจบลงด้วยการยอมรับในคุณค่าที่ตรงกันบางอย่าง เราจึงต้องยึดมั่นในการพูดคุย เพราะ ไม่ได้นำพาไปสู่สิ่งที่จะทำร้ายใคร แต่จะนำไปสู่ความเข้าใจกัน
‘คุยเพื่อหาจุดร่วมตรงกลาง’ ฤทธิกร มองว่าการพูดคุยเป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์ เพราะหากเรารวมตัวกันได้ มีการเคลื่อนไหว และทำกิจกรรมทางสังคมได้ เกิดจากการสื่อสารและพูดคุยกัน การพูดคุยแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดใครได้ แต่จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น โดยที่ไม่เป็นการโน้มน้าว แต่หาจุดร่วมตรงกลาง เพื่อเปลี่ยนเป็นการต่อยอดในเรื่องที่เป็นประโยชน์
‘คุยกันเพื่อรับฟัง’ อรุชิตา มองว่าที่ผ่านมาบางคนอาจไม่เคยรับฟังคนเห็นต่างเลย แม้จะเป็นคนที่รู้จักกัน การคุยและรับฟังกันยังเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในกรณีของ Thailand Talks เราต้องคุยกับคนที่ไม่รู้จักกัน กระบวนการนี้จะนำคนไปเจอบรรยากาศของการพูดคุยด้วยเหตุผล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอาจได้ฝึกออกแบบการคุย ว่าจะทำอย่างไร เพื่อประคับประคองสถานการณ์ และจะได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกคนสามารถคุยกับคนเห็นต่างได้ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการคุยในมุมที่ต่างกัน บางคนคุยเพื่อเข้าใจ บางคนเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง บางคนแค่ฝึกฟังก็พอแล้ว การมีพื้นที่แบบนี้ ทำให้เราได้ทดลอง หากได้เริ่มต้นแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ ทางออก ทางเลือกใหม่ ๆ ก็อาจจะตามมา
‘คุยยุติความขัดแย้ง’ พงศ์พิพัฒน์ มองว่าทุกความขัดแย้ง จบลงได้ด้วยการพูดคุยกัน ไม่ใช่การใช้อำนาจกดกัน เพราะสังคมจะยิ่งมีความแตกแยก เราคุยกันเพื่อเข้าใจอีกฝ่าย แต่ต่างคนต่างยืนยันในจุดยืนของตนเอง แล้วกลับไปพร้อมกับควมเข้าใจว่า ทำไมคนนั้นถึงคิดแบบนั้น เพราะอะไร Thailand Talks จึงเป็นกิจกรรมที่ท้าทายมากว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะในสังคมไทยตอนนี้ไม่ค่อยมีพื้นที่ของการพูดคุย มีแต่พื้นที่ของการช่วงชิง การเปิดพื้นที่สำหรับคนเห็นต่างจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้แล้ว ง่าย ๆ เพียงการตอบ 7 คำถาม เพื่อให้ระบบทำการจับคู่กับคนเห็นต่าง ที่ตอบคำถามต่างกันสุดขั้ว จากนั้นนัดแนะมาพูดคุยกันในวันที่ 20 พฤศจิกายน พร้อมร่วมกิจกรรมสุดพิเศษ สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.thailandtalks.org “เพราะการพูดคุย เป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจ”