ทิ้งพื้นที่ให้รกร้าง ไม่ใช้ประโยชน์ ก็เป็นการทำร้ายดินทางอ้อม การช่วยดินโดยตรงคือการปรุงดินและปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง 5 ธันวาคมปีนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และธรรมธุรกิจ เดินหน้าฝึกอบรมคนเมือง ปลูกต้นไม้ ทำโคกหนองนาในพื้นที่เล็ก ๆ ระดับบุคคล ชุมชน และเครือข่าย
สร้างจุลินทรีย์ในป่าคอนกรีต นี่คือธีมงานของเครือข่ายกสิกรรมคนเมือง ในวันดินโลก ปีนี้ มีนิทรรศการ กสิกรรมคนเมือง (Urban Farming) มีผลผลิตคนเมือง และตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนที่ดินเล็กๆ อย่างในคอนโดมิเนียมให้กลายเป็นสวนผักปลอดภัย เพื่อให้คนกินรู้ที่มา หัวใจสำคัญ คือ การพึ่งพาตนเอง จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ ผู้ที่ผลักดันแนวทางการสร้างสายพานอาหารที่เป็นธรรม และปลอดภัยให้กับผู้บริโภค บอกว่า ดินดี คือ จุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาที่ดินใน กทม.หลายแห่งยังไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ปีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการ kick off อบรมคนเมืองที่สนใจปรับที่ดินอันมีอยู่อย่างจำกัด ให้กลายเป็นป่าพึ่งพาตัวเอง และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยตั้งเป้าจะอบรมให้กับคนเมืองที่สนใจมากกว่า 300 คน ภายในต้นปี 2565 โดยเขาเองยังอยากเห็นต้นไม้ทุกต้นใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่สาธารณะ คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เป็นไม้ประดับที่สามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า และปลอดภัยจากสารเคมี
ปี 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน เนื่องจากดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
แนวทางองค์การเกษตรอาหารแห่งสหประชาชาติ FAO แก้ปัญหาดิน
2561 แก้ปัญหาสารเคมี สารพิษ
2562 หยุดการชะล้าง พังทลายหน้าดิน
2563 ความหลากหลายทางชีวภาพ
2564 แก้ปัญหาดินเค็ม
ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ระบุว่า ปีนี้เห็นการสร้างพื้นที่โคกหนองนาขยายผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดโดยพยายามแก้ปัญหาดินในทุกมิติมาตลอดหลายปี และปีนี้ทำงานในรูปแบบ 5 ภาคี 8 ทัพ
โดยในส่วนของภาครัฐ ตั้งเป้า ให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ . ปรับพื้นที่เป็นโคกหนองนาโมเดลให้ได้ 33,000 แห่งภายในปี 2566 มีการขยายผลโคกหนองนาไปที่เรือนจำ 137 แห่ง และ ค่ายทหาร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการทำโคกหนองนาในวัดทั่วทุกภูมิภาค เพื่อปรับเป็นแหล่งเรียนรู้ และบางแห่งเป็น echo village ฯลฯ สิ่งนี้สะท้อนชัดว่าความร่วมมือไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีภาคส่วนอื่นทั้งราชการ เอกชน ประชาชน ฯลฯ ร่วมเดินหน้าปรับเปลี่ยนผืนดินดีทั่วทั้งประเทศ ท้ายนี้หากผู้ที่มีบทบาทในการจัดการดูแลที่ดิน เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จะมองว่าผืนดินเป็นของทุกคนที่ต้องดูแลร่วมกัน และไม่ปล่อยให้เสื่อมโทรม รกร้าง หรือใช้ประโยชน์อย่างไม่เหมาะสมเพราะสุดท้ายแล้ว ดินดี คือจุดเริ่มต้นของ สรรพชีวิต และเกราะป้องกันวิกฤตการขาดอาหาร วิกฤตภัยทางธรรมชาติ และเป็นอีกหนึ่งภูมิคุ้มกันของประชาชนทุกคน ประธานกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวทิ้งท้าย